รัฐ-เอกชน-สถาบันการศึกษา ร่วมผลักดัน Bioeconomy ประกาศแผนลงทุน 4 แสนลบ.ใน 10 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 23, 2017 13:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาและการวิจัย ประกาศเจตนารมณ์พร้อมสร้าง“เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)" เศรษฐกิจคลื่นลูกใหม่ตามนโยบายประชารัฐ สู่การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม New S-Curve พร้อมประกาศแผนการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพในระยะเวลา 10 ปี มูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ในเฟสที่ 1 ระหว่างปี 60-61 มีเม็ดเงินลงทุนจำนวน 51,000 ล้านบาท สามารถเริ่มต้นได้ทันทีที่จังหวัดระยอง ก่อนจะขยายสู่เขตอีสานตอนกลางในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง

ในวันนี้คณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ซึ่งมี นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม หัวหน้าทีมภาครัฐ และ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) หัวหน้าทีมภาคเอกชน จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาและวิจัย รวมทั้งสิ้น 23 หน่วยงาน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศไทย ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยใช้พืชเศรษฐกิจที่ไทยมีความพร้อมอยู่แล้ว อาทิ มันสำปะหลังและอ้อยเป็นพืชนำร่อง พร้อมบริหารจัดการในรูปแบบเกษตรสมัยใหม่ (Modern Farming) เพื่อให้เกษตรกร สามารถปลูกพืชเกษตรที่มีคุณภาพและผลผลิตสูงด้วยต้นทุนต่ำลง

อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนวัตถุดิบทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง (Biorefinery) และสร้างเมืองใหม่บนเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมครบวงจร (Biopolis) ที่มีระบบคมนาคมทันสมัย ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการครบวงจร และสถาบันวิจัยขั้นสูง

สำหรับ Bioeconomy เป็นการนำ 2 ตัวแปรสำคัญ ได้แก่ เกษตรกรรมสมัยใหม่ และ Biorefinery มาบริหารจัดการ ด้วย Technology และ Research and Development เพื่อให้เกิดคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนจากเศรษฐกิจฐานเกษตรกรรมไปเป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม โดยจะใช้สินค้าเกษตรจากมันสำปะหลังและอ้อย ซึ่งไทยส่งออกเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก เป็นตัวนำร่อง จะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมในลักษณะห่วงโซ่ที่เพิ่มมูลค่า (Value Chain) ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพลังงานชีวภาพ เช่น เอทานอล พลังงานไฟฟ้าชีวมวล เพื่อเป็นพลังงานทางเลือกที่มั่นคงและแข่งขันได้ อุตสาหกรรมชีวเคมี ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ที่จะเข้ามาเป็น Ingredient ผสมในอาหารแทนการใช้สารเคมี หรือแม้แต่ผสมในอาหารสัตว์ เพื่อให้สัตว์ได้รับโปรตีนจากธรรมชาติที่ดีมีความสมบูรณ์ ตลอดจนอุตสาหกรรมทางชีวเภสัชภัณฑ์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่และ มีอนาคต และต้องมีการลงทุนทางด้าน Research and Development สูง

ภายใน 10 ปีจะมีมูลค่าการลงทุนตลอด Value Chain กว่า 4 แสนล้านบาท และในปีที่ 10 จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอ้อยได้มากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี มันสำปะหลังกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี โดยเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มเป็น 75,000 บาท ต่อคนต่อปี มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นทั้งในโรงงานผลิตและการวิจัยที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 20,000 ตำแหน่ง และที่สำคัญ ยังเป็นการลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการใช้ฟอสซิลได้มากถึง 70 ล้านตัน เป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่มีต่อประชาคมโลกที่นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้ความร่วมมือเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ ณ ประเทศฝรั่งเศส

นายประเสริฐ กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ว่า คณะทำงานกลุ่ม Bioeconomy ที่มีนายอนนต์ สิริแสงทักษิณ เป็นหัวหน้าทีมทำงานของภาคเอกชนที่เกิดจากการรวมตัวกันของภาคเอกชนจากหลายภาคอุตสาหกรรม ต่างเล็งเห็นถึงความจำเป็น ความเร่งด่วนในการร่วมกันแก้ไขปัญหา และมุ่งมั่นที่จะนำประเทศไทยก้าวข้ามผ่านความท้าทายเหล่านี้ไปให้ได้

แผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนา Bioeconomy ในระยะเวลา 10 ปี มีกรอบการลงทุนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 60-61 เงินลงทุนประมาณ 51,000 ล้านบาท เพื่อต่อยอดการพัฒนาพลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ อาหาร และชีวเภสัชภัณฑ์ ผลักดันการสร้างอุปสงค์และตลาด ระยะที่ 2 ปี 62-64 เงินลงทุนประมาณ 182,000 ล้านบาท เพื่อสร้าง Biorefinery Complexes ที่ครบวงจร และเมืองใหม่บนเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมอย่างครบวงจร Biopolis และระยะที่ 3 ปี 65-69 เม็ดเงินลงทุนประมาณ 132,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับสู่ Regional Hub เป็นต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ