"มิตรผล" เตรียมทำตลาดสารให้ความหวานจากธรรมชาติในกลุ่มเครื่องดื่ม เล็งสร้างรง.ในไทยหากผลตอบรับดี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 3, 2017 17:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา มณเฑียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการความร่วมมือกับพันธมิตรในสหรัฐอเมริกาทำการวิจัยและพัฒนาสารให้ความหวาน"อีริทริทอล"และ"ไซลีทอล" โดยจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 75 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาต่อยอดสร้างโรงงานผลิตสารให้ความหวานจากธรรมชาติที่"ฟู๊ดอินโนโพลีส"โรงงานที่สหรัฐฯจะเริ่มผลิตปี 61 กำลังผลิต 6 พันตันต่อปี โดยประมาณ 1,500 ตันจะนำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยสำหรับกลุ่ม Beverage ซึ่งปัจจุบันมีการใช้สารให้ความหวานที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติ

"1,500 ตันที่จะนำเข้ามาทำตลาดในไทยถ้าไปได้ดีก็อาจจะสร้างโรงงานที่เมืองไทย"

ส่วนกำลังผลิตที่เหลือจะขายในสหรัฐฯ ซึ่งตลาดสินค้าในกลุ่มนี้ที่สหรัฐฯมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 14% ต่อปี ส่วนในประเทศไทยยังไม่สามารถประเมินมูลค่าตลาดสินค้าประเภทนี้ได้ ขณะที่ตลาดของน้ำตาลทรายในประเทศไทย มีมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี

จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตอีริทริทอลและไซลีทอลอยู่ที่ 1.5 ล้านตันต่อปี อัตราการบริโภคอีริทริทอลทั่วโลกอยู่ที่ 65,000 ตัน ขณะที่การบริโภคไซลีทอลทั่วโลกอยู่ที่ 250,000 ตัน

เมื่อกลางปี 2559 กลุ่มมิตรผลประกาศความร่วมมือกับ Dynamic Food Ingredients (DFI) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาสารให้ความหวานที่นำนวัตกรรมการใช้พลังงานไฟฟ้าในกระบวนการผลิตที่ดึงคาร์บอนออกจากโมเลกุลมาแปรรูปน้ำตาลให้เป็นสารให้ความหวานจากธรรมชาติที่มีแคลอรี่ต่ำ ได้แก่ อีริทริทอล (Erythritol) และไซลีทอล (Xylitol) ซึ่งเป็นที่แพร่หลายที่สุดในโลก ในระยะเริ่มต้นจะมุ่งเน้นการผลิตที่สหรัฐอเมริกาก่อน ควบคู่กับการร่วมกันวิจัยและพัฒนาที่"ฟู๊ดอินโนโพลีส" (Food Innopolis) และจะสนับสนุนการใช้วัตถุดิบคืออ้อยและแป้งมันสำปะหลังจากประเทศไทยให้มากที่สุด

สำหรับแผนขยายกำลังการผลิตโรงงานเอทานอล จ.กาฬสินธุ์ อีก 2.5 แสนลิตรต่อวัน จากเดิม 1.25 ล้านลิตรต่อวันนั้น กำลังจะเดินเครื่องผลิตได้ในเดือนมี.ค.นี้

ส่วนเรื่องภาษีน้ำตาลนั้น มองว่าเป็นเรื่องของกระแสจากกลุ่มคนรักสุขภาพ แต่สาเหตุของโรคอ้วนนั้นไม่ได้มาจากการบริโภคน้ำตาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งเอกชนก็พยายามรณรงค์เรื่องนี้อยู่ ส่วนเรื่องยกเลิกโควต้านั้นมองว่าไม่มีปัญหาเพราะตลาดจะเสรีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ