(เพิ่มเติม) รมว.คลัง เผยจะยื่นไฟลิ่ง"ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์"ภายในมี.ค. เปิดขายราวพ.ค.-มิ.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 8, 2017 12:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ยืนยันว่า จะสามารถเปิดขายหน่วยลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) ให้นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันได้ภายในเดือนพ.ค.-มิ.ย.นี้ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อยู่ระหว่างคัดเลือก 2 ใน 3 ของโครงการ ได้แก่ ทางด่วนบูรพาวิถี ทางพิเศษฉลองรัช และเส้นกาญจนาภิเษก เพื่อมาระดมทุนล็อตแรก วงเงินราว 4-5 หมื่นล้านบาท

"ยืนยันว่าการลงทุนในไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์จะเป็นการลงทุนที่ปลอดภัย โดยในวันนี้ (8 ก.พ.) คณะกรรมการ กทพ. จะมีการประชุมเพื่อคัดเลือกโครงการลงทุนในการเข้ามาระดมทุนกับไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์รอบแรก 2 โครงการ โดยคาดว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามแผน" นายอภิศักดิ์ กล่าว

ในหลักการจะเปิดขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนรายย่อยเป็นหลัก โดยเฉพาะนักลงทุนที่ได้ลงชื่อจองหน่วยลงทุน ส่วนผลตอบแทนยังอยู่ระหว่างการหาข้อสรุป แต่หลักการคือจะต้องสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาด เบื้องต้นคาดว่าอยู่ที่ 7-8%

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า วันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กพท.) เพื่อคัดเลือกเส้นทาง 2 ใน 3 เส้นทาง เพื่อเข้าระดมทุนในกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์สฟันด์ ซึ่งทั้ง 3 เส้นทางได้คัดเลือกไว้เบื้องต้นแล้ว โดยพิจารณาจากปริมาณการจราจร และนำมาคำนวณออกเป็นผลตอบแทนที่ค่อนข้างดีในระดับ 7-8% ได้แก่ 1.เส้นเอกมัย-รามอินทรา 2.เส้นบูรพาวิถี และ 3.เส้นดาวคะนองต่อวงแหวนรอบนอก

"วันนี้ การทางฯ จะเลือก 2 ใน 3 เส้น ซึ่งทั้งหมดเราดูจากปริมาณการจราจรแล้ว เราจะแบ่งรายได้กับการทางพิเศษฯ ซึ่งการทางฯ อาจจะเลือก 40% หรือ 60% ออกมาขาย" นายเอกนิติ กล่าว

สำหรับการเปิดขายหน่วยลงทุนนั้นจะเปิดให้กับนักลงทุนและประชาชนทั่วไปซื้อได้ โดยล็อตแรกที่จะออกขายนั้นถือเป็นโครงการที่มีอยู่แล้วและได้มีการพิสูจน์ชัดเจนทั้งในเรื่องของรายได้ที่ผ่านมาโดยดูจากปริมาณการจราจร ซึ่งจะทำให้แปลงออกมาเป็นรายได้ที่ค่อนข้างชัดเจน

"ในกรณีที่ขายให้รายย่อยนั้น เราใช้เกณฑ์ของ ก.ล.ต.เหมือนกับการขายหุ้นทั่วไป หรือ Infrastructure Fund ทั่วไป ซึ่งจะเป็นการกระจายหุ้นให้กับรายย่อยก่อน ยังยืนยันแผนเดิมคือ จะไฟลิ่ง ก.ล.ต.ภายในมี.ค. พอการทางฯ เลือกเส้นทาง เลือกจำนวนปี (เราเสนอไป 20-30 ปี) เลือกสัดส่วน เพื่อนำการคำนวณตรงนี้ไปดูเม็ดเงินว่าการทางฯ ต้องการใช้เงินเท่าไรในการก่อสร้างเส้นใหม่ ซึ่งประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท" ผู้อำนวยการ สคร.กล่าว

พร้อมระบุว่า หลังจากบอร์ด กทพ.มีข้อสรุปเรื่องการคัดเลือกเส้นทางแล้ว ก็จะส่งเรื่องไปที่กระทรวงคมนาคม ก่อนที่จะนำเสนอมาที่กระทรวงการคลังอีกครั้ง

สำหรับเส้นทางใหม่ที่ กทพ.จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปก่อสร้าง คือ เส้นทางพระราม 3-ดาวคะนอง และเส้นทาง N2 เกษตร-นวมินทร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ