ก.พลังงานเล็งขยายเขตกองทุนรอบโรงไฟฟ้ากระบี่ออกไปเกินกว่า 5 กม.หวังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตปชช.เพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 14, 2017 15:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินงานตามข้อสรุปของคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ซึ่งกระทรวงพลังงานมีความเห็นสอดคล้องตามข้อเสนอไตรภาคีฯ และจะได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการให้ครอบคลุมข้อสรุปของคณะกรรมการไตรภาคีฯ ที่มีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ ๆ ได้แก่

1.กระทรวงพลังงาน กกพ. และกฟผ. ได้พิจารณาแนวทางการขยายเขตกองทุนรอบโรงไฟฟ้าเกินกว่ารัศมี 5 กิโลเมตร ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จากเดิมที่ครอบคลุมในพื้นที่ 2 ตำบล คือ ตำบลปกาสัย และตำบลคลองขนาน โดยจะขยายให้ครอบคลุมไปถึงพื้นที่เส้นทางขนส่งเชื้อเพลิง ซึ่งจะสามารถครอบคลุมในพื้นที่เพิ่มเติมอีก 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลเกาะศรีบอยา และตำบลตลิ่งชัน ซึ่งคาดว่าจะครอบคลุมประชาชนในพื้นที่อีกประมาณ 3,320 ครัวเรือน ได้รับเงินกองทุนเพื่อพัฒนาชุมชน และพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านการศึกษา สาธารณสุข อาชีพ และการจ้างงานต่อไป

2.แนวทางการส่งเสริมพลังงานทดแทนในพื้นที่ กระทรวงพลังงาน และกฟผ. พร้อมจะสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในพื้นที่ภาคใต้ โดยจะมีนโยบายใหม่ รับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กแบบผสมผสานในรูปแบบสัญญาเสถียร (SPP Hybrid Firm) และการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมากแบบสัญญาเสถียรตามช่วงเวลา (VSPP Semi-Firm) รวมทั้งเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์มในพื้นที่ภาคใต้ โดยปัจจุบันโรงไฟฟ้ากระบี่ของ กฟผ. ได้มีการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่บ้างแล้ว เพื่อพยุงราคาน้ำมันปาล์มในช่วงที่ราคาตกต่ำเป็นครั้งคราว นอกจากนี้ กฟผ.พร้อมจะรับซื้อส่วนเพิ่มของชีวมวลคงเหลือประมาณ 150 ตันต่อวัน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

พลเอกอนันตพร กล่าวเพิ่มว่า จากข้อสรุปของคณะกรรมการไตรภาคีฯ ในส่วนของการบริหารจัดการในพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ ด้านสุขภาพ ด้านการส่งเสริมอาชีพและการศึกษาให้แก่ชุมชนนั้น กระทรวงพลังงานขอยืนยันว่าจะบริหารจัดการในพื้นที่โครงการ ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่ระบุในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมทั้งด้านแนวทางให้มีคณะกรรมการร่วมติดตามตรวจสอบการทำงานของโรงไฟฟ้า ซึ่งจะมีตัวแทนภาคประชาชนและผู้ประกอบการในจังหวัดกระบี่เข้าร่วมตลอดอายุโรงไฟฟ้าตั้งแต่เริ่มเริ่มก่อสร้างจนถึงสิ้นสุดการผลิต เพื่อร่วมกันรับรู้และแก้ไขผลกระทบจากโรงไฟฟ้าต่อไป

ด้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินนัดเดินขบวนเคลื่อนไหวแสดงพลังคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ในวันที่ 17 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ขอความร่วมมืออย่าออกมาเคลื่อนไหว เพราะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และจะถูกจับกุมดำเนินคดี ซึ่งได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานประชุมหารือถึงเรื่องดังกล่าวในวันที่ 17 ก.พ.นี้ ว่าจะดำเนินการหรือไม่อย่างไร พร้อมกำหนดแนวทางแก้ไขกรณีไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และขอให้ยึดผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก โดยเฉพาะด้านความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ