(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ เผย GDP ไตรมาส 4/59 โต 3% รับผลดีส่งออกเร่งตัวขึ้น, ทั้งปี 59 โต 3.2%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 20, 2017 10:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แถลงว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/59 ขยายตัวได้ 3% จากที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว 3.2-3.3% ขณะที่ทั้งปี 59 ขยายตัวได้ในอัตรา 3.2% ตามคาด

สภาพัฒน์ ระบุว่า เศรษฐกิจในไตรมาส 4/59 ถือว่าเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง แต่ชะลอลงจากที่ขยายตัว 3.2% ในไตรมาส 3/59 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเร่งตัวขึ้นของการส่งออก การใช้จ่ายของรัฐบาลและการลงทุนรวมที่ขยายตัวขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนก็ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 59 ปรับตัวดีขึ้นมาที่ 3.2% ปรับตัวดีขึ้นจาก 2.9% ในปี 58

ด้านการผลิต การผลิตภาคเกษตรไตรมาสที่ 4/59 ขยายตัว 3.2% เร่งขึ้นจาก 0.9% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากพืชผลสำคัญหลายชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวเปลือกนาปี ส่วนการผลิตภาคนอกเกษตรขยายตัว 3.1% โดยสาขาอุตสาหกรรม สาขาก่อสร้าง และสาขาการค้า ขยายตัวต่อเนื่อง

ด้านการใช้จ่าย การอุปโภคภาครัฐบาลขยายตัว 1.5% ปรับตัวดีขึ้นจากที่ลดลง 5.2% ในไตรมาสก่อนหน้า ทั้งค่าตอบแทนแรงงานและค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการขยายตัว สอดคล้องกับยอดเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจ้าปี 60 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และการลงทุนรวมขยายตัว 1.8% เร่งตัวขึ้นจากที่ขยายตัว 1.0% ในไตรมาส 3/59 โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัว 8.6% จาก 5.8% ในไตรมาส 3/59 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนลดลงต่อเนื่อง 0.4% ทั้งด้านการก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องจักรส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือ ณ ราคาประจำปี มีมูลค่า 111.6 พันล้านบาท

ขณะที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 2.5% ชะลอลงจาก 3.0% ในไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระดับราคาสินค้าโดยรวมที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ประกอบกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ตาม จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงปลายปีและรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยโดยรวม โดยการใช้จ่ายซื้อสินค้ากึ่งคงทนและบริการสุทธิขยายตัว ส่วนสินค้าไม่คงทนชะลอตัวลง สำหรับการใช้จ่ายด้านสินค้าคงทนหดตัว โดยเฉพาะสินค้าคงทนประเภทยานยนต์และเครื่องเรือนลดลง

ภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้าและบริการขยายตัว จากการส่งออกสินค้าที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่บริการชะลอตัว ส้าหรับการนำเข้าเร่งขึ้นทั้งสินค้าและบริการ การสะสมสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นทั้งสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวเปลือก และสินค้าอุตสาหกรรม รวมทั้งการสะสมสินค้าคงคลังของทองคำในไตรมาส 4/59 ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากการนำเข้าทองคำมีมูลค่าสูงขึ้น ขณะที่การส่งออกทองคำลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ดุลการค้าและดุลบริการ ณ ราคาประจ้าปี เกินดุล 431.1 พันล้านบาท โดยดุลการค้าเกินดุล 234.8 พันล้านบาท และดุลบริการเกินดุล 196.3 พันล้านบาท

ทั้งนี้ หลังปรับปัจจัยฤดูกาลแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/59 ขยายตัว 0.4% (QoQ SA)

สภาพัฒน์ ระบุอีกว่า เศรษฐกิจไทยรวมทั้งปี 59 ขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยการขยายตัวเริ่มกระจายตัวไปสู่เศรษฐกิจภาคเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีซึ่งการผลิตภาคกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการส่งออกสินค้าปรับตัวดีขึ้น ในด้านการใช้จ่าย การบริโภคของครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น 3.1%, 0.4% และ 0.0% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้น 2.2% การลดลง 2.2% และ การลดลง 5.6% ในปี 58 ตามลำดับ

การลงทุนภาครัฐขยายตัว 9.9% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 29.3% ในปีก่อนหน้า ในด้านการผลิต การผลิตภาคเกษตรกลับมาขยายตัว 0.6% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 5.7% ในปีก่อนหน้า การค้าส่งค้าปลีก สาขาการขนส่งและสื่อสารขยายตัวเร่งขึ้นเป็น 5.0% และ 5.5% จากการขยายตัว 3.9% และ 5.1% ในปี 58 สาขาอุตสาหกรรมขยายตัว 1.4% ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ขณะที่สาขาโรงแรมและภัตตาคารชะลอตัวลงสอดคล้องกับการส่งออกบริการ

รวมทั้งปี 59 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 14,360.6 ล้านล้านบาท (406.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) รายได้ต่อหัวเฉลี่ยของ คนไทยอยู่ที่ 212,892.3 บาทต่อคนต่อปี (6,032.7 ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี) เพิ่มขึ้นจาก 203,356.1 บาทต่อคนต่อปี (5,937.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี) ในปี 58

ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 0.2% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 11.4% ของ GDP


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ