รมว.พลังงาน เผย กพช.เสนอ ครม.วันนี้ทบทวน EIA-EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 21, 2017 08:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ในการคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้จะพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ให้เดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยการจัดทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย พร้อมทั้งนำความเห็นของคณะกรรมการไตรภาคีมาประกอบการพิจารณา

การทบทวน EIA จะมีการนำข้อมูล EIA เดิมที่ได้จัดทำไว้แล้วมาพิจารณาว่าข้อมูลใดรับได้หรือรับไม่ได้ ซึ่งข้อมูลใดที่ประชาชนรับไม่ได้ก็จะมีการแก้ไขเฉพาะส่วน โดยไม่ใช่การจัดทำใหม่ทั้งหมด ซึ่งการปรับแก้ไข EIA จะทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ล่าช้ากว่าแผนเดิมที่จะเข้าระบบในปี 62 เป็น 64-65 แทน แต่หากต้องกลับไปทำ EIA ใหม่ทั้งหมด (Set zero) จะต้องล่าช้าเข้าระบบไปเป็นปี 67 แทน

อย่างไรก็ตาม สำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่นั้น จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม(EHIA) EHIA ส่วนการสร้างท่าเทียบเรือโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่คลองรั้ว จะเป็นการทำ EIA ตามกฎระเบียบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยที่ผ่านมากลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ระบุว่า การทำ EIA เป็นการจ้างบริษัทมาดำเนินการ จึงเกิดกรณีเข้าข้างกันเอง ซึ่งในส่วนของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ก็มีการว่าจ้างบริษัทมาดำเนินการทำ EIA จริง แต่ผู้พิจารณาว่า EIA จะผ่านหรือไม่คือ คณะกรรมการ EIA ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและมีการขึ้นทะเบียบได้รับใบรับรอง ดังนั้นการพิจารณา EIA จึงเป็นสิ่งที่พิจารณาตามหลักเหตุผล ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการให้กลับไปแก้ไขหลายข้อเช่นกัน

"การทำ EIA และ EHIA นั้นตามเหตุผลแล้วก็ควรนำอันเก่ามาทบทวน โดยหากพบว่าที่ทำมาไม่ถูกต้องเลย ก็ต้องทำใหม่หมด แต่ถ้าอันไหนใช้ได้ก็เดินหน้าต่อไป ส่วนที่ใช้ไม่ได้ก็ต้องแก้ไขปรับปรุง ส่วนกรณีที่กลุ่มคัดค้านเข้าใจว่า การทำ EIA ต้องเริ่มต้นกันใหม่ทั้งหมดนั้น อาจจะเป็นเพราะเกิดการฟังไม่ชัด กระทรวงพลังงานไม่เคยดื้อดึง ผมเห็นว่าเราต้องอยู่บนหลักเหตุผลอย่าใช้อารมณ์ ต้องใช้เหตุผลเชิงประจักษ์พิสูจน์ได้" รมว.พลังงาน กล่าว

รมว.พลังงาน กล่าวด้วยว่า แม้ภาพรวมปริมาณไฟฟ้าของประเทศไทยจะมีไฟฟ้าสำรองสูงถึง 30% ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการใช้ทั้งประเทศ แต่หากมองเป็นรายภาคโดยเฉพาะภาคใต้จะไม่พอใช้ เนื่องจากปัจจุบันภาคใต้พึ่งพาไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านสายส่งไฟฟ้ากว่า 400 เมกะวัตต์ จึงทำให้มีไฟฟ้าพอใช้ แต่ถ้าโรงไฟฟ้าภาคใต้โรงใดปิดซ่อม ไฟฟ้าภาคใต้จะประสบปัญหาขึ้นทันที อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานยืนยันจะดูแลไม่ให้ไฟฟ้าดับอย่างเต็มที่

ด้านพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และรายงานผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม(EHIA) ไม่ได้เริ่มใหม่ทั้งหมด ให้เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าว โดยต้องดำเนินการสรุปผลตามกรอบเวลาที่ได้กำหนดไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ