(เพิ่มเติม) นายกฯ ยันไม่ถอย เผย ครม.สั่งรื้อ EHIA โรงไฟฟ้ากระบี่ดึงภาคประชาชนร่วมทำความเข้าใจใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 21, 2017 16:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินวันนี้เป็นการไปทำความเข้าใจ ไม่ใช่ชะลอแต่ให้ไปศึกษาทำความเข้าใจกันใหม่ โดยเฉพาะในกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) หากไม่ผ่านก็คือสร้างไม่ได้

ณ วันนี้รัฐบาลมีคณะกรรมการ 3 ฝ่าย จึงอยากให้ประชาชนที่อาจจะยังไม่เห็นด้วยเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาตรงนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม กระบวนการในการศึกษาใหม่อาจจะทำให้การเกิดโรงไฟฟ้าล่าช้าไปอีก 1 ปี จากเดิมถ้าผ่านกระบวนการอาจจะเกิดได้ปี 65 แต่เมื่อมีการต้องศึกษาใหม่ อาจเลื่อนเป็นปี 66 หรือ 67

"รัฐบาลไม่ได้ถอยหลัง แต่กระบวนการศึกษามีมานานแล้ว พร้อมย้ำว่ารัฐบาลต้องหาแนวทางและมีหน้าที่จัดหาพลังงานให้กับประเทศ ซึ่งหากทำไม่ได้ อาจจะเกิดปัญหาไม่มีไฟฟ้าใช้ในอนาคต"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ นายกรัฐนตรีได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบการใช้วัตถุดิบอื่นมาผลิตไฟฟ้า เช่น หากจะมีการนำก๊าซหรือน้ำมันมาใช้ก็มีความกังวลว่าในอนาคตหากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น อาจทำให้ต้นทุนไฟฟ้าสูงขึ้นไปด้วย

สิ่งที่รัฐบาลคิดขณะนี้ เป็นการคิดเพื่ออนาคต อย่างกรณีรถยนต์ไฟฟ้าก็เป็นการคิดไว้ตั้งแต่วันนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะไปยกเลิกการใช้รถที่ใช้ก๊าซหรือน้ำมันแต่อย่างไร หรือแม้แต่เรื่องของน้ำมันปาล์ม มองว่าหากนำมาใช้แล้วน้ำมันปาล์มราคาสูงขึ้นก็จะส่งผลให้ต้นทุนค่ากระแสไฟฟ้าต่อยูนิตแพงขึ้นด้วย

"เอาเป็นว่า อะไรที่ใช้ในการเผาๆ ได้ทั้งนั้นแต่เราเน้นว่าต้นทุนอะไรถูกกว่า"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า แม้โรงไฟฟ้าจะเกิดหรือไม่เกิด ตนก็ไม่ได้รับผลประโยชย์ แต่ที่ทำก็ทำเพื่อประเทศ เพราะถ้าทำเพื่อตนเอง คงไม่ทำ ไปนอนอยู่บ้านสบายกว่า

ด้านพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงานรายงานความคืบหน้าของโครงการดังกล่าวให้ที่ประชุมรับทราบ โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ทุกภาคส่วนกลับไปทบทวนข้อมูลทุกด้านให้ถูกต้อง ทั้งเรื่องผลกระทบด่านต่าง ๆ และข้อเปรียบเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่น ซึ่งหากผลการจัดทำรายงาน EHIA ออกมาเป็นอย่างไร ก็ให้ดำเนินการตามนั้น ถ้าหากให้ดำเนินการก่อสร้างได้ก็ให้ดำเนินการต่อไป แต่หากสร้างไม่ได้จะมีทางเลือกที่จะดำเนินการแบบอื่นทดแทนหรือไม่

"รัฐบาลเห็นว่าเมื่อมีปัญหาตรงนี้ ต้องการแก้ให้ตรงจุดเพื่อให้เกิดความสบายใจ พร้อมรับผลที่ออกมา ท้ายที่สุด ถ้าไม่ได้อะไรเลย ก็ไม่มี ต้องยอมรับเผชิญโชคร่วมกัน...วันนี้ทุกคนต้องเปิดใจ รับฟังข้อมูลใหม่ อย่าไปฟังข้อมูลที่เล่าต่อๆกันมา"พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

ทั้งนี้ หากกระบวนการจัดทำ EHIA เสร็จสิ้นแล้วก็ให้เดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่อได้ แต่การก่อสร้างอาจจะล่าช้าจากเดิมไป 1-2 ปี ไปแล้วเสร็จในปี 66-67 พร้อมทั้งยกตัวอย่าง ประเทศมาเลเซียที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 7 โรงติดชายฝั่งตลอดแหลมมลายู และวันหนึ่งถ้าหากภาคใต้ไฟฟ้าไม่พอ แล้วต้องไปขอซื้อจากคนอื่นจะรู้สึกอย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ