สรรพากรเสนอคลังพิจารณาแผนเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี มั่นใจทั้งปีตามเป้าหมาย แม้ 5 เดือนแรกต่ำเป้า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 6, 2017 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้จัดทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีและนำเสนอให้กระทรวงการคลังได้พิจารณาแล้ว ซึ่งการดำเนินงานในแผนดังกล่าวจะมีความเข้มงวดมากขึ้น เช่น การส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจสถานประกอบการที่เปิดให้บริการช่วงกลางคืน ทั้งร้านอาหาร ผับ บาร์ โดยจะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปใช้บริการและขอใบกำกับภาษีจากร้านค้าต่างๆ ว่าถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้องก็จะเข้าทำการตรวจสอบการเสียภาษีให้ถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง

นอกจากนี้ ยังเสนอแผนการเก็บภาษีการซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์ (E-Commerce) ซึ่งกรมสรรพากรเพิ่งซื้อระบบมาได้ระยะหนึ่ง โดยสามารถตรวจสอบได้ว่าเว็บไซต์ใดมีคนเข้าไปดูและทำการซื้อขายมากที่สุด ทั้งนี้ กรมสรรพากรจะเข้าไปทำการสั่งซื้อสินค้า เพื่อตรวจสอบว่ามีการออกใบกำกับภาษีและเสียภาษีครบถ้วนหรือไม่

"การเก็บภาษีเพิ่ม จะทำตามสภาพความเป็นจริงเท่านั้น ไม่ได้เป็นการไปเก็บภาษีส่วนที่เกินจริง ซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพนี้จะทำให้การเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2560 ได้ตามเป้าหมาย 1.86 ล้านล้านบาท จากการเก็บภาษีในรอบ 5 เดือนแรกที่ผ่านมาต่ำกว่าเป้าหมายอยู่ 6 พันล้านบาท" นายประสงค์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมากรมสรรพากรได้เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษี โดยให้ผู้ประกอบการทำบัญชีเดียว โดยการดำเนินการในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการ SMEs ที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% และการเก็บภาษีมูลค่าเพิ้มผู้ประกอบการที่มีรายได้เกิน 500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3%

อย่างไรก็ดี กรมสรรพากรได้เตือนผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่ทำบัญชีเดียวให้รับดำเนินการให้ถูกต้อง เพราะปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SMEs อยู่ 2.6 ล้านราย มีการทำบัญชีเดียว 1 ใน 3 เท่านั้น ที่เหลืออีก 2 ใน 3 ยังมีหลายบัญชี ซึ่งไม่เป็นผลดีกับผู้ประกอบการ เพราะในปี 2562 ผู้ประกอบการที่ขอกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ต้องใช้บัญชีงบการเงินที่ยื่นให้กรมสรรพากรตรวจสอบใช้เป็นหลักฐานยื่นขอเงินกู้กับธนาคารพาณิชย์

สำหรับการขอคืนภาษีบุคคลธรรมดาของรายได้ที่เกิดขึ้นในปี 2559 คาดว่าจะสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท หรือ สูงกว่าปีที่ผ่านมา 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลได้ออกมาตรการลดหย่อนภาษีหลายอย่าง เช่น ภาษีช็อปช่วยชาติ ภาษีเที่ยวทั่วไทย ปัจจุบันมีผู้ยื่นภาษีมาแล้ว 3 ล้านราย มีผู้ขอคืนภาษี 1.7 ล้านราย มีการคืนภาษีผ่านระบบพร้อมเพย์ไปแล้ว 7 แสนราย และคืนภาษีโดยการออกเช็ค 7 หมื่นราย และยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบขอเอกสารเพิ่มเติมอีก 5 แสนราย โดยผู้ที่ยื่นแบบภาษีบุคคลธรรมดา 90% ยื่นทางอินเตอร์เน็ต และอีก 10% ยื่นเป็นกระดาษ

อธิบดีกรมสรรพากร ยังกล่าวถึงการจัดเก็บภาษีมรดกว่า กฎหมายการเก็บภาษีมรดกมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.พ.59 มีทรัพย์ 5 ประเภทที่ต้องเสียภาษีมรดก คือ อสังหาริมทรัพย์, หลักทรัพย์, เงินฝาก, ยานพาหนะ และทรัพย์สินทางการเงินอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับอัตราการเก็บภาษีมรดก หากเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานเสียภาษีอัตรา 5% จากการรับมรดกส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท แต่หากไม่ใช่จะเสียภาษีอัตรา 10% จากการรับมรดกส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท

"ขณะนี้มีทายาทของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองคนหนึ่งที่เสียชีวิตในช่วงที่ผ่านมา ได้แจ้งกับกรมสรรพากรเพื่อจะเสียภาษีการรับมรดก ซึ่งยังไม่ทราบเม็ดเงินภาษีที่จะเก็บได้ เพราะต้องรอจนกว่าจึงมีการรับมรดกเกิดขึ้นจริง โดยถือว่าเป็นการเก็บภาษีมรดกรายแรกของประเทศไทย"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ