KBANK คาดเงินบาทสิ้นปีนี้อยู่ที่ 35.70 จากเดิมคาด 36.50 หลังดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงทำบาทอ่อนค่าไม่มาก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 14, 2017 15:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการค่าเงินบาทสิ้นปี 60 มาอยู่ที่ 35.70 บาท/ดอลลาร์ จากเดิมที่ 36.50 บาท/ดอลลาร์ โดยเป็นผลมาจากการที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยมีการเกินดุลอยู่ในระดับที่สูง เพราะเอกชนมีการชะลอตัวการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การนำเข้าลดลง ซึ่งทำให้เป็นผลทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไม่มากจากที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งตลาดได้รับทราบและคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไปมากแล้ว ทำให้มีการไหลออกของเงินทุนไปค่อนข้างมากแล้ว

สำหรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงเติบโตอยู่ที่ 3.3% โดยมีแรงหนุนจากการท่องเที่ยว การส่งออก และ การลงทุนโครงการของภาครัฐ ซึ่งเศรษฐกิจในไตรมาส 1/60 คาดว่าจะยังทรงตัวจากไตรมาส 4/59 เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนภาครัฐจะลงสู่ระบบมากขึ้นในช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป แต่มีสิ่งที่นักลงทุนยังคงต้องติดตาม คือ ความชัดเจนของการปฎิรูปซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 61 โดยหากการปฎิรูปเกิดขึ้นจริงจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติกลับคืนมา ซึ่งปกตินักลงทุนจะคำนึงถึงเรื่องผลตอบแทนและความไม่แน่นอน เพราะเป็นปัจจัยที่นักลงทุนจะต้องคำนึงถึงก่อนการตัดสินใจลงทุน

ส่วนแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด คาดว่าจะปรับขึ้น 2 ครั้งในปีนี้ คือ ในเดือนมีนาคมและพฤศจิกายน จากเดิมที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 3 ครั้งในปีนี้ เพราะมองว่าหากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯเร็วเกินไป จะทำให้เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่กลับเข้าสหรัฐฯมากขึ้น ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเร็วเกินไป ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เนื่องจากต้นทุนในการกู้เงินเพื่อลงทุนต่าง ๆ สูงขึ้น และกำไรของบริษัทต่าง ๆ ในสหรัฐฯที่ไปลงทุนในต่างประเทศมีมูลค่าลดลง ประกอบกับยังมีปัจจัยเสี่ยงของยุโรปในเรื่องการเลือกตั้งที่ต้องพิจารณา

ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะอยู่ในระดับที่ 1.50% ต่อไปทั้งปีนี้ เพราะเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งหากลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก จะมีผลให้เงินไหลออกไปลงทุนยังสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กังวล หรือหากจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ