ครม.เห็นชอบโครงการดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา THEOS-2 วงเงิน 7.8 พันลบ. ระยะ 5 ปี(60-64)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 14, 2017 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISDA) ได้ขออนุมัติดำเนินโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) วงเงิน 7,800 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ปี 60-64

ทั้งนี้ ดาวเทียม THEOS-2 จะมาทดแทนดาวเทียม THEOS-1 หรือ ดาวเทียมไทยโชต ซึ่งควรจะหมดอายุการใช้งานตั้งแต่ 56 แต่เราดูแลรักษาอย่างดีและคาดว่าจะมีอายุการใช้งานได้ถึงปี 61

ประโยชน์ของดาวเทียมดังกล่าว มีทั้งด้านเกษตร เช่น ใช้วางแผนการเพาะปลูก คาดการณ์ผลผลิตล่วงหน้า การบริหารจัดการน้ำ สามารถเชื่อมโยงแหล่งน้ำและการใช้น้ำได้ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ทางด้านจัดการภัยพิบัติ เช่น การแจ้งเตือนและอพยพ ในด้านทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศน์ สามารถป้องกันการบุกรุกป่าได้

ทางด้านความปลอดภัย สามารถเฝ้าระวังพื้นที่ยุทธศาสตร์และพื้นที่ชายแดนของประเทศได้ด้วย ด้านเศรษฐกิจ สามารถติดตามการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค

องค์ประกอบของโครงการนี้จะเริ่มตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ต้นทางคือการจัดหาดาวเทียม 2 ดวง ดวงแรกคือดาวเทียมเชิงแสง แบบรายละอียดสูง 1 ดวง ส่วนดวงที่ 2 เป็นดาวเทียมขนาดเล็ก ซึ่งจะสร้างและผลิตเองในประเทศไทย เป็นผลจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากดาวเทียมดวงใหญ่ นอกจากนี้จะมีการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลภูมิสารสนเทศ พัฒนาแอพพลิเคชั่นให้หน่วยงานต่างๆใช้ข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมและผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที เพื่อเชื่อมโยงหน่วยงานแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สุดท้าย เป็นการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมด้านอวกาศและภูมิสารสนเทศ เช่น การผลิตดาวเทียมขนาดเล็กตามที่ได้กล่าวไป

ทั้งนี้ ในปี 2560 จะใช้งบประมาณ รวม 1,094 ล้านบาท

นอกจากนี้ GISDA ขอทบทวนมติ ครม.เมื่อปี 2558 จากที่ให้ดำเนินการในรูปแบบจีทูจี มาเป็นจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ เปิดประมูล เนื่องจากหลังจากที่ได้ขอข้อมูลทางเทคนิคจาก 8 ประเทศแล้ว GISGA เห็นว่าหากดำเนินการแบบจีทูจีอาจจะมีเพียงบางประเทศที่ผ่านเงื่อนไขดังกล่าว อาจจะไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้กำชับว่า การเปิดประมูลจัดซื้อจัดจ้างใดๆก็ตาม ให้ทำตามหลักที่ให้ไว้ ข้อแรก คือ การกำหนดมาตรฐานที่ยอมรับได้ หลังจากนั้นทุกโครงการทีจะต้องเชื่อมต่อกับประโยชน์ในอนาคตได้ และต้องพิจารณาถึงบริการหลังการขาย และการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศไทยด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ