KGI คาด GDP ไทยกลับมาขยายตัวได้สูงกว่า 4% หลัง Q2/61 จากปีนี้คาดโตที่ 3.6%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 21, 2017 11:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพสูง โดยคาดว่าอัตราการขยายตัว GDP เข้าใกล้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจตามศักยภาพในช่วง 4.5-5.5% โดยอัตราการขยายตัว GDP จะสูงกว่า 4.0% ตั้งแต่หลังไตรมาสที่ 2/61 เป็นต้นไป ถ้าไม่มีการให้น้ำหนักมากจนผิดปกติเกินไป ทางด้านที่มาของรัฐบาล อันดับความน่าเชื่อถือของไทยควรจะขึ้นไปอยู่ที่ “A” หรือ “A-” จาก “BBB+” ในปัจจุบัน
"ยังคงมุมมองบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่าจะขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ เราเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจยังสามารถขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้อย่างมีเสถียรภาพ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมไม่มีอะไรที่ต้องน่าวิตกกังวล ยังไม่มีสัญญาณใดๆที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจะกลับไปมีทิศทางที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง"

ในส่วนรัฐบาลมีเสถียรภาพสูง ภาคการคลังยังสามารถเก็บรายได้เป็นไปตามเป้างบประมาณแผ่นดิน ขณะที่รัฐบาลเร่งการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามแผนงบประมาณและเร่งการลงทุนใหม่ในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานขนาดใหญ่ ฐานะการเงินของธนาคารพาณิชย์และความสามารถในการทำกำไรยังแข็งแกร่งสูงมาก การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องและมีศักยภาพที่จะขยายตัวในระดับสูงขึ้นหลังจากภาระหนี้จากโครงการรถยนต์คันแรกทยอยหมดลง ส่วนภาคต่างประเทศมีเสถียรภาพสูงและยังแข็งแกร่งมากจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 11% เทียบกับ GDP ทุนสำรองระหว่างประเทศสูงสุดเป็นอันดับ 13 ของโลกและสูงกว่ามูลค่านำเข้ามากกว่า 10 เดือน ความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศต่ำ

ฝ่ายวิจัยฯ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วตั้งแต่หลังจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมีแนวโน้มกลับมาดีขึ้น อัตราการขยายตัวของ GDP มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น โดยอัตราขยายตัว GDP ปี 2557 ขยายตัว 0.8% เป็น 2.8% ในปี 2558 และ 3.2% ในปี 2559 GDP รายไตรมาสขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมีความแข็งแกร่ง โดยมีปัจจัยที่สำคัญแสดงถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ดังนี้ รัฐบาลมีความแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพในการบริหารราชการแผ่นดินสูง ไม่มีความวุ่นวายจากภาคการเมืองและภาคสังคม ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้รับคะแนนนิยมในระดับสูง และคาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนต่อเนื่องจนถึงการเลือกตั้งทั่วไปที่ฝ่ายวิจัยฯ คาดว่าจะมีขึ้นไม่เกินไตรมาสที่ 2/61 และ คาดว่าหลังจากการเลือกตั้ง สถานการณ์ทางด้านการเมืองยังไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง

GDP ขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความผันผวนของเศรษฐกิจต่ำ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน GDP ไตรมาสที่ 4/59 ขยายตัว 3.0% YoY ชะลอลงเล็กน้อยจาก 3.2% YoY ในไตรมาสที่ 3/59 หลังปรับปัจจัยฤดูกาลแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/59 ขยายตัว 0.4% QoQ ในปี 2559 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.2% เร่งตัวขึ้นจากที่ขยายตัว 2.9% ในปี 2558 และ 0.8% ในปี 2557

อัตราการขยายตัว GDP ไตรมาสที่ 4/59 เท่ากับที่ฝ่ายวิจัยฯ คาดการณ์ และ ไม่ได้แย่เมื่อพิจารณาถึงบริบทของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้อัตราการขยายตัว 3.0% YoY ยังแสดงถึงความสามารถของเศรษฐกิจไทยในการรองรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างแข็งแกร่ง เมื่อสถานการณ์เข้าใกล้ภาวะปกติมากขึ้นจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นเองตามลำดับ และส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงขึ้นต่อเนื่อง

ฝ่ายวิจัยฯ คงเป้า GDP ปี 2560 ที่ 3.6% เป็นการขยายตัวในระดับปานกลาง ยังไม่มีปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่เด่นชัดในช่วงนี้ รัฐบาลมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพสูง รายได้ภาคเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 10-15% รัฐบาลยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลดหย่อนภาษีต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่เป็นสิ่งที่ผิดแต่อย่างไรเพราะรัฐบาลเป็นหน่วยระบบเศรษฐกิจหน่วยหนึ่งที่ต้องบริหารจัดการเศรษฐกิจให้ขยายตัวเป็นไปตามที่ต้องการเช่นเดียวกันกับรัฐบาลประเทศอื่นทั่วโลก รัฐบาลพยายามเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้เป็นไปตามเป้า การลงทุนภาครัฐขยายตัวต่อเนื่องทั้งงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และ โครงการใหม่ที่จะเข้ามาเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3/60 เป็นต้นไป ในปี 2560 งบลงทุนภาครัฐมีมูลค่าสูงถึง 5.47 แสนล้านบาท หรือ 20% ของเงินงบประมาณปี 2560 ที่มีงบประมาณรวม 2.733 ล้านล้านบาท โดยเงินลงทุนภาครัฐยังเป็นเครื่องยนต์หลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงอีก 6 ปี ข้างหน้า มูลค่าส่งออกจะขยายตัว 2.6% และมีโอกาสขยายตัวได้สูงกว่าที่ฝ่ายวิจัยฯ คาดการณ์ไว้ ส่วนปริมาณส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้มากกว่า 4%

ในปี 2560 ฝ่ายวิจัยฯ คาดว่ารายได้เกษตรกรจะขยายตัว 10-15% จากผลผลิตภาคเกษตรเนื่องจากมีน้ำเพียงพอต่อการการเกษตร และ ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น เช่น ราคายางพารา ราคาน้ำตาล ราคาน้ำมันปาล์ม ซึ่งเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นไปตามราคาน้ำมันดิบ ราคาผลไม้ยังมีแนวโน้มขยายตัวเนื่องจากความต้องการจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากจีนยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกรสวนผลไม้ ผลไม้บางชนิดจะมีผลผลิตที่ต่ำลงเนื่องจากน้ำท่วมภาคใต้ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตส้มโอ ทุเรียน มังคุด ลดลงส่งผลให้ราคาผลไม้เพิ่มขึ้น เมื่อรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นจะช่วยหนุนการบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะในต่างจังหวัด ส่วนราคาข้าว ยังคงมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นทั้งจาก เวียดนาม กัมพูชา และ เมียนมา ทำให้ตลาดข้าวแข่งขันรุนแรง

มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายด้วยการนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษียังคงมีต่อเนื่อง การใช้จ่ายภาครัฐคงขยายตัว โดยงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 มีจำนวน 2.104 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 77% ของงบประมาณแผ่นดินปี 2560 คาดว่ารัฐบาลจะสามารถเบิกจ่ายได้สูงถึง 90% ของงบประมาณแผ่นดินรวม ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังซบเซา แต่อาจจะขยายตัวได้ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ยอดการสั่งซื้อเครื่องจักรในประเทศ รถบรรทุกทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของโครงการลงทุนภาครัฐ

มูลค่าส่งออกปี 2560 จะสามารถขยายตัวได้ 2.6% ในรูปของค่าเงินดอลลาร์ฯ และ 4.3% ในรูปของค่าเงินบาท เศรษฐกิจโลกปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 3.1% ตามประมาณการของ IMF เป็น 3.4% ปริมาณการค้าโลกปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่า 3.8% สูงกว่าปี 2559 ที่ขยายตัว 2.3% ฝ่ายวิจัยฯ คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลุ่ม OPEC และ Non-OPEC จะกลับมาขยายตัวสูงขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจจีนจะสามารถขยายตัวได้ 6.5% ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงขยายตัวในระดับที่สูงขึ้นต่อเนื่อง เป็นปัจจัยบวกต่อภาคการส่งออกของไทย

จากมูลค่าส่งออกเดือนมกราคมที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 8.5% YoY ฝ่ายวิจัยฯ คาดว่านักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักจะปรับเป้าอัตราการขยายตัวมูลค่าส่งออกปี 2560 เพิ่มขึ้นเนื่องจากทำประมาณการตัวเลขที่ต่ำมากเกินไปโดยเฉพาะที่ทำตัวเลขต่ำกว่า 2% ตามด้วยการปรับเพิ่มเป้า GDP เพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับเป้าที่ 3.6% และ ถ้ามูลค่าส่งออกยังขยายตัวมากกว่า 4% ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะปรับเป้ามูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น

ด้านฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์แข็งแกร่ง เงินกองทุนเทียบกับสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ในระดับที่สูงมากและสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ยังมีความสามารถในการทำกำไรสูงมาก NPL ที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นกรณีเฉพาะ

โดยรวมแล้วสถานะทาการเงินของธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงแข็งแกร่งมาก แม้ว่า NPL จะเพิ่มขึ้นแต่บ้างแต่ยังอยู่ในระดับต่ำมากใกล้ๆกับจุดต่ำสุด กำไรสุทธิยังคงอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับระดับสูงสุด ส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio: CAR) ทำสถิติสูงสุดโดยเฉพาะเงินกองทุนชั้นที่ 1 ขณะที่ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์มักจะให้ความเห็นต่อเศรษฐกิจในเชิงอนุรักษ์นิยมมากเกินไปทำให้หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ซื้อขายในระดับต่ำ (Low valuation) แถวๆ Book value ในบางช่วง

4 ปี หลังจากที่ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เรามีความเห็นเชิงบวกต่อความแข็งแกร่งทางการเงินของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ความสามารถในการทำกำไรแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ ล่าสุดกำไรปี 2559 เพิ่มขึ้น 4.1% แม้ว่า Gross NPL จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.99% เพิ่มขึ้นจาก 2.69% ณ สิ้นปี 2558 ส่วนหนึ่งเนื่องจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดขึ้นเฉพาะกรณีของ SCB KTB และ TISCO จากการปล่อยสินเชื่อให้กับ บมจ. สหวิริยา สตีล และ การเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อื่น ส่วน Net NPL เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.41% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.28% ณ สิ้นปี 2558 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำมาก

จากกำไรสุทธิที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องทำให้ความเพียงพอของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง สูงขึ้นตาม โดยเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (รูปที่ 5) เพิ่มขึ้นจาก 17.12% ณ สิ้นปี 2558 มาเป็น 17.77% ณ สิ้นปี 2559 และ เงินกองทุนชั้นที่ 1 เพิ่มขึ้นจาก 13.92% ณ สิ้นปี 2558 มาเป็น 14.53% ณ สิ้นปี 2559 ส่วนสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในสถานะที่ดีมาก ไม่มีปัญหาทางด้านสถาพคล่องโดย LCR (Liquidity Coverage Ratios) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 167% ณ ต้นปี 2559 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 175% ณ สิ้นปี 2559

ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ให้มุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเอียงไปทางด้านอนุรักษ์นิยมมากเกินไปในช่วงต้นปี และมีการปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัว GDP เพิ่มขึ้นในช่วงต่อๆมา ในปี 2560 ก็เช่นเดียวกันกับปี 2559 ที่ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังคงให้มุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเอียงไปทางด้านอนุรักษ์นิยมมากเกินไปโดยคาดว่า GDP ปี 2560 จะขยายตัวประมาณ 3.2% เท่ากับปี 2559 และ คาดว่าสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ของตนเองจะขยายตัวเพียง 3.5-4.5%

แต่ ฝ่ายวิจัยฯ มีมุมมองต่อเศรษฐกิจในเชิงบวกมากกว่าและตัวเลขประมาณการใกล้เคียงกับที่เป็นจริง คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2560 จะขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นกว่าปี 2559 โดยมีปัจจัยบวกมากมายที่สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เช่น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ ปริมาณน้ำในเขื่อนหลายๆเขื่อนสูงกว่าช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งเพียงพอต่อการเพาะปลูกและผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น ไม่เกิดภัยแล้งเหมือนปี 2559 ส่งผลให้รายได้เกษตรขยายตัวในระดับสูงและส่งผลให้การบริโภคภาคครัวเรือนในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น รัฐบาลเร่งโครงการลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานใหม่ให้เกิดขึ้นต่อเนื่อง มูลค่าส่งออกและปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น ขณะที่หนี้ครัวเรือนจากโครงการรถยนต์คันแรกทยอยลดลง ซึ่งจะทำให้ GDP ปี 2560 สามารถขยายตัวได้ 3.6% ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อผลประกอบการและราคาหุ้นกลุ่มธนาคาพาณิชย์สูงขึ้น นอกจากนี้ ฐานะทางการคลังแข็งแกร่ง หนี้สาธารณะในอยู่ในระดับต่ำ ความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ต่ำมาก ไม่ใช่เป็นเรื่องเสียหายอะไรที่รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล เช่นเดียวกันกับรัฐบาลหลายๆประเทศทั่วโลกที่ล้วนทำนโยบายการคลังแบบขาดดุลเช่นเดียวกันเพื่อประคองหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตั้งแต่หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ เดือนกันยายน 2551 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลสหรัฐฯ รัฐบาลประเทศสมาชิกยูโรหลายประเทศ ที่ทำงบประมาณขาดดุลในระดับสูงมากทั้งที่ระดับหนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้นมากกว่า 100% เทียบกับ GDP หนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับต่ำที่ 42% เทียบกับ GDP และ ถ้าไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจหสรัฐฯ ในปี 2551 ที่ผ่านมาแล้ว ระดับหนี้สาธารณะของไทยจะลดลงอย่างต่อเนื่องเข้าใกล้ 30%

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยทำงบประมาณฯ ขาดดุลเพียง 2-3% เทียบกับ GDP ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยกเว้นช่วงหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าไทยยังคงขาดดุลในระดับนี้ไปอีกในช่วง 5 ปี ข้างหน้า และ คาดว่าจะมีการปรับปรุงระบบภาษีเพื่อให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ ขยายฐานภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ภาครัฐ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกผิดปกติหรือเสียหายต่อฐานะการคลังแต่อย่างไรที่ไทยยังคงดำเนินนโยบายการแบบขาดดุล และไม่มีผลให้ระดับหนี้สาธารณะเมื่อเทียบกับ GDP พุ่งสูงขึ้นเนื่องจาก GDP ไทยยังสามารถขยายตัวได้ 3.6% ในปี 2560 และ 3.8% ในปี 2561 หลังจากนั้นคาดว่า GDP จะขยายตัวได้สูงกว่า 4% เนื่องจากภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่เกิดจากโครงการรถยนต์คันแรกจะทยอยหมดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพิ่มศักยภาพการบริโภคภาคเอกชนอย่างมีนัยสำคัญ

อีกประเด็นสำคัญคือการขาดดุลภาคการคลังไม่ได้ใช้ไปในนโยบายการเมืองแบบประชานิยมและไม่มีการดำเนินนโยบายประชานิยมต่อจากรัฐบาลก่อนหน้าที่สร้างภาระหนี้ให้กับภาคการคลังอย่างมากโดยเฉพาะที่เกิดจากการขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าว การขาดดุลการคลังในช่วงต่อไปเป็นการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านบาท ในช่วงอีก 10 ปีข้างหน้า ที่จะยกประสิทธิภาพระบบ Logistic ของประเทศ และ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตของประเทศในระยะยาวเป็นสำคัญ ดังนั้นการขาดดุลการคลังจึงไม่น่าเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบเหมือนที่ผู้จัดทำอันดับความน่าเชื่อต่างประเทศบางแห่งให้ความเห็น

คาดว่าหนี้สาธารณะเทียบกับ GDP มีแนวโน้มลดลงต่ำกว่า 43% ในช่วงอีก 5 ปี ข้างหน้า เนื่องจาก GDP มีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ยได้สูงกว่า 4% ขณะที่การขาดดุลภาคการคลังต่ำกว่า 3% ดังนั้นรัฐบาลไทยยังมีความสามารถในการชำระหนี้ในระดับสูงมากที่กำหนดไว้ไม่ให้เกิน 5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

จากที่มีข่าววิจารณ์ว่ารัฐบาลถังแตก เงินคงคลังเดือนธันวาคม 2560 ทรุดลงเหลือ 7.49 หมื่นล้านบาท นั้น ฝ่ายวิจัยฯ มีความเห็นประเด็นดังกล่าวไม่มีน้ำหนักความสำคัญ รัฐบาลได้เร่งใช้จ่ายเงินจำนวน 4.35 แสนล้านบาท ในเดือนตุลาคม 2559 และ 3.58 แสนล้านบาท ในเดือนธันวาคม 2559 แต่รัฐบาลแทบไม่ได้กู้ยืมเงินตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 เนื่องจากมีเงินคงคลังสูงถึง 2.03 แสนล้านบาท และ เงินคงคลังยังเพิ่มขึ้นเป็น 4.41 แสนล้านบาท ในเดือนกันยายน 2559 ดังนั้นเมื่อมีการใช้จ่ายในระดับสูงมากในช่วงต้นปีงบประมาณ 2560 ทำให้เงินคงคลังลดลงเหลือ 7.49 หมื่นล้านบาท เงินคงคลังในระดับต่ำไม่ใช่เป็นประเด็นที่บอกว่าฐานะการคลังทรุดและแย่ลงขณะที่เศรษฐกิจยังขยายตัวไม่ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลมีรายได้เข้ามาต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลยังมีความสามารถในการกู้ยืมเงินจากตลาดเงินตลาดทุนได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ ล่าสุดในเดือนมกราคม 2560 เงินคงคลังเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 8.30 หมื่นล้านบาท รัฐบาลมีรายจ่ายจำนวน 2.55 แสนล้านบาท และมีการกู้ยืมมาเพื่อชดเชยการขาดดุล 7.98หมื่นล้านบาท

ดังนั้นการที่มีเงินคงคลังในระดับสูงจึงไม่ใช่เรื่องจำเป็น และ รัฐบาลสามารถเพิ่มเงินคงคลังได้ทันทีทันใดเมื่อมีความจำเป็นในการใช้จ่าย นอกจากนี้ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม รัฐบาลจะมีเงินรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลเข้ามาเพิ่มอีกจะเป็นการช่วยให้เงินคงคลังเพิ่มขึ้นและถ้ารัฐบาลชะลอการใช้จ่าย จะทำให้เงินคงคลังเพิ่มขึ้นมากกว่าระดับ 1 แสนล้านบาท และถ้ารัฐบาลกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นยิ่งจะทำให้เงินคงคลังเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ดังนั้น เงินคงคลังในระดับต่ำไม่ใช่เป็นประเด็นที่บอกว่าฐานะการคลังกำลังมีปัญหาหรือแย่ลง

ขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัวต่อเนื่องทั้งโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่และเร่งโครงการลงทุนใหม่ เนื่องจากฐานะภาคการคลังที่ยังแข็งแกร่งดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นก่อนหน้า ประกอบกับหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับต่ำทำให้รัฐบาลยังมีความสามารถในการกู้ยืมเพื่อดำเนินการตามแผนการลงทุนในงบประมาณประจำปี นอกจากนี้การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนที่จะมีมากขึ้นในช่วงต่อไปจะยิ่งช่วยลดภาระการกู้ยืมเงินของภาครัฐและเพิ่มเงินลงทุนใหม่มากขึ้น

การลงทุนใหม่ภาครัฐยังคงขยายตัวต่อเนื่องในช่วงอีก 6 ปี ข้างหน้า เป็นเครื่องยนต์หลักที่ผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง โครงการลงทุนส่วนใหญ่เป็นการยกประสิทธิภาพและโครงข่ายระบบ Logistic ของประเทศ โดยเป็นโครงการขนส่งมวลชนระบบรางในกรุงเทพฯและปริมณฑล และ เน้นเพิ่มประสิทธิภาพโครงการขนส่งสินค้าระหว่างเมือง

ฝ่ายวิจัยฯ คาดว่าโครงการก่อสร้างภาครัฐจะเร่งตัวขึ้นแม้ว่าอาจจะมีความล่าช้าไปบ้างซึ่งเป็นปกติของโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ขณะที่โครงการก่อสร้างใหม่ รัฐบาลมีแนวโน้มเร่งการก่อสร้างเริ่มเร็วขึ้น คาดว่าจะเห็นโครงการก่อสร้างใหม่เริ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3/60 คือ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง สายสีชมพู และ สายสีส้ม นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้าง Motor way 3 เส้นทาง ซึ่งบางส่วนได้เริ่มก่อสร้างแล้ว ยังไม่รวมถึง Motor way อีก 3 เส้นทาง จากกรุงเทพ-ราชบุรี กรุงเทพ-เพชรบุรี และส่วนต่อขยายมอร์เตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา ในช่วงนครราชสีมา-ขอนแก่น ที่กรมทางหลวงอยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งคาดว่าโครงการส่วนต่อขยายจะมีความเป็นไปได้และน่าจะสามารถก่อสร้างได้ในช่วงอีก 2 ปี ข้างหน้า

นอกจากนี้ยังมีเส้นทางรถไฟทางคู่อีก 10 เส้นทาง ที่รอการทยอยอนุมัติและประมูล การก่อสร้างระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งจะเป็นการยกระดับการลงทุนและการผลิตของประเทศในช่วงอีก 5-10 ปีข้างหน้า เป็นต้น เราคาดว่าจะมีโครงการลงทุนใหม่จากภาครัฐออกมาต่อเนื่อง

สำหรับภาวะดินฟ้าอากาศเอื้อต่อภาคการเกษตรและการขยายตัวของรายได้เกษตกร ในปี 2558-2559 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยประสบภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรงจากปรากฏการณ์เอลญิโญ โดยภาวะแห้งแล้งรุนแรงสุดในช่วงครึ่งหลังของฤดูแล้งปี 2559 (กุมภาพันธ์-เมษายน) เป็นปัจจัยลบอย่างรุนแรงต่อภาคการเกษตร ซึ่งเป็นไปตามที่เราได้ออกรายงานเตือนในปีก่อนหน้านั้น และเราได้ออกรายงานช่วงต่อมาว่าภาวะแห้งแล้งจะสิ้นสุดลงหลังเดือนเมษายนและมีโอกาสที่จะเกิดภาวะน้ำมาก หรือ ลานิญ่า ในช่วงฤดูฝน ส่งผลให้ระดับน้ำในเขื่อนหลักๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และ เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่

ภาวะดังกล่าวทำให้ไทยพ้นจากภาวะแห้งแล้งอย่างสมบูรณ์ในตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 ผลผลิตภาคการเกษตรในช่วงครึ่งหลังของปีเพิ่มขึ้นทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้การบริโภคภาคครัวเรือนในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 ถึงครึ่งแรกปี 2560

จากปริมาณฝนที่ตกมาในช่วงฤดูฝน ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก (ยกเว้นเขื่อนภูมิพล) ในต้นเดือนมีนาคม 2560 ยังคงอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี เพียงพอต่อความต้องการภาคการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง ส่งผลให้สถานการณ์แล้งจะไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตทางการเกษตรจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเทียบกับปีก่อนหน้า แต่การเพาะปลูกพืชที่ต้องใช้น้ำมาก เช่น ข้าวนาปรัง อาจจจะมีผลิตที่ไม่ดีเนื่องจากรัฐบาลจะพยายามลดพื้นที่เพาะปลูกเนื่องจากใช้น้ำมากและบวกกับราคาข้าวตลาดโลกตกต่ำ

ขณะที่ปริมาณผลผลิตพืชผลทางการเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังขอปี 2559 ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายชนิดปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง เช่น ราคายางพารา น้ำมันปาล์ม ราคาผลผลิตพืชผลทางการเกษตรที่สูงขึ้นบวกกับปริมาณผลผลิตที่มากขึ้น จะส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นตาม บวกกับความต้องการสินค้าเกษตรบางรายการจากจีนโดยเฉพาะผลไม้สด และ ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรบางรายการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหลายจังหวัดภาคใต้ เช่น ส้มโอ ทุเรียน มังคุด จะทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นอีก ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกให้รายได้เกษตรกรพุ่งสูงขึ้นและเพิ่มการใช้จ่ายของครัวเรือนในต่างจังหวัดในปี 2560

นอกจากนี้ ภาระหนี้ภาคครัวเรือนจากโครงการรถยนต์คันแรกทยอยหมดลง เพิ่มศักยภาพการใช้จ่าย โครงการรถยนต์คันแรกส่งผลให้อัตราการขยายตัว GDP ตลอดช่วงโครงการขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1% ในแต่ละปี ขณะเดียวกันเป็นการเพิ่มภาระหนี้ภาคครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2555 หลังจากที่รัฐบาลดำเนินโครงการรถยนต์คันแรกที่กำหนดให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิจองซื้อรถยนต์คันแรกภายใน 16 กันยายน 2554 ถึง 31 ธันวาคม 2555 แต่หลังจากน้ำท่วมใหญ่ช่วงครึ่งหลังของปี 2554 รัฐบาลได้ขยายเวลาการส่งมอบรถยนต์ออกเป็นไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2557 เป็นรถยนต์ขนาดเล็กความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,500 cc. สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และ ไม่จำกัดปริมาณกระบอกสูบสำหรับรถบรรทุกเล็ก โดยราคารถยนต์ต้องไม่เกินกว่า 1 ล้านบาท ผู้ซื้อรถยนต์ได้สิทธิ์นำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ไม่เกิน 1 แสนบาท ไม่สามารถเปลี่ยนความเป็นเจ้าของได้ในช่วง 5 ปี แรก รัฐบาลเลื่อนกำหนดส่งมอบรถจากก่อนสิ้นปี 2556 เป็นก่อนเดือนกันยายน 2558 เนื่องจากประเทศประสบกับภาวะน้ำท่วมครั้งใหญ่ รถยนต์ส่วนใหญ่ถูกส่งมอบในปี 2555

จากโครงการรถยนต์คันแรก ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 แต่พุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในเดือนมีนาคม 2555 สูงกว่า 100,000 คัน เป็นครั้งแรกเป็น 110,977 คัน และยอดขายรถยนต์ทำสถิติสูงสุดในเดือนมีนาคม 2556 จำนวน 157,527 คัน ในปี 2555 ยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นถึง 80.6% เป็น 1.435 ล้านคัน และ ลดลง 7.7% เป็น 1.324 ล้านคันในปี 2556 แม้ว่ายอดขายรถยนต์ปี 2556 จะลดลงจากปี 2555 ก็ตาม แต่ยังเป็นยอดขายที่สูงมากเมื่อเทียบกับช่วงหลายปีก่อนหน้า

กรมสรรพสามิตรายงานว่ามีผู้ใช้สิทธิ์เพื่อลดหย่อนภาษีจำนวน 1.101 ล้านคน หรือ เท่ากับยอดขายรถยนต์จากโครงการรถยนต์คันแรก 1.101 ล้านคัน ประมาณการว่าภาระหนี้ภาคครัวเรือนจากโครงการรถยนต์คันแรกจะมีขนาดเท่ากับ 4.9% ของ GDP ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าน้ำมันรถ ค่าบำรุงรักษา และ ค่าประกันความเสียหาย ฯ ส่งผลให้ระดับหนี้ครัวเรือนพุ่งขึ้นจาก 62.3% เทียบกับ GDP ณ สิ้นไตรมาสที่ 3/54 เป็น 71.1% เทียบกับ GDP ณ สิ้นปี 2555 และ 75.8% เทียบกับ GDP ณ สิ้นปี 2556 ท้ายที่สุด หนี้ครัวเรือนพุ่งขึ้นไปสูงสุดที่ 81.2% ณ สิ้นปี 2558

จากที่ยอดขายรถยนต์พุ่งสูงขึ้น ทำให้ยอดหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นตาม ยอดสินเชื่อรถยนต์พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/54 มีบางส่วนหนึ่งจะเกิดขึ้นจากการกู้ยืมเพื่อบูรณะที่อยู่อาศัยหลังน้ำท่วมใหญ่ช่วงเดือนมิถุนายน – พฤศจิกายน 2554 ยอดหนี้ครัวเรือนพุ่งขึ้นในปี 2555 การชำระหนี้โครงการรถยนต์คันแรกเริ่มต้นเดือนกันยายน 2554 ภาระหนี้รถยนต์คันแรกจะเริ่มทยอยหมดลงตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 – เดือนธันวาคม 2562

ภาระหนี้จากโครงการรถยนต์คันแรกที่ทยอยหมดลง แม้ว่ายังมีเจ้าของรถยนต์บางส่วนที่ไม่ได้ขายรถออกจะยังคงมีค่าใช้จ่ายทั้งค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง ค่าประกันภัย ค่าใช้จ่ายที่ยังมีอยู่ต่อเนื่องแต่เป็นภาระที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับการผ่อนค่างวด กำลังซื้อเข้ามามากขึ้นต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจจนถึงปี 2562 จากการที่ภาระหนี้หมดลง ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องสูงกว่า 4% ในช่วงกลางปี 2561 เป็นต้นไป และจะเป็นปัจจัยหลักที่ยกระดับระดับอัตราการขยายตัว GDP รายไตรมาสสูงกว่า 4.0%

ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ กำลังซื้อไม่ถดถอย คาดว่าอัตราเงินเฟ้อปี 2560 จะเพิ่มขึ้นในระดับต่ำ (Disinflation) เนื่องจากฐานเงินเฟ้อต่ำ เป็นผลเนื่องจากราคาน้ำมันดิบไปที่ผ่านมาทรุดตัวลงแรง การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบค่อยๆปรับตัวงเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมาเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาเป็นบวก คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 จะแกว่งตัวในช่วง +0.9 - +2.2% เฉลี่ยที่ 1.6% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ ไม่เป็นภัยต่อเสถียรภาพด้านราคาและไม่บั่นทอนกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ และ จะไม่มีผลให้ กนง. ต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินที่มีเป้าเงินเฟ้อที่ 2.5% +/-1.5%

ฝ่ายวิจัยฯ มองว่า มีโอกาสน้อยมากที่ความต้องการใช้จ่ายในประเทศจะผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อ (Demand-pull) ของไทยพุ่งขึ้นไปสูงกว่า 3% ในช่วงอีก 2 ปี ข้างหน้า แต่ถ้าเกิดจากทางด้านต้นทุนที่แพงขึ้น (Cost–push) มีความเป็นไปได้มากกว่าถ้าราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นแรงเกินกว่า 80 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือ มีการขึ้นภาษีสรรพสามิตหรือภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่มาจากทางด้านการเพิ่มขึ้นของต้นทุนยังไม่เป็นปัจจัยที่กดดันให้ กนง. ต้องรีบปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพราะโดยธรรมชาติแล้วอัตราเงินเฟ้อที่มาจากทางด้านต้นทุนจะบั่นทอนอัตราการขยายตัว GDP อยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันไทยต้องการเห็น GDP ขยายตัวสูงมากกว่า 4% การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นการฉุดให้ GDP ขยายตัวต่ำลง จึงไม่น่าเป็นที่ต้องการของรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย

ในส่วนภาคต่างประเทศมีความแข็งแกร่งสูงมาก ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงมาก ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงมาก หนี้ต่างประเทศระยะสั้นต่ำ ความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศต่ำมาก

ภาคต่างประเทศของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมีเสถียรภาพสูงมากและสูงมากขึ้นต่อเนื่อง จากการเกินดุลการค้าและดุลภาคบริการเกินดุลสูงมาก ขณะที่มูลค่าส่งออกผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้วตั้งแต่ช่วงกลางปี 2559 ดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2559 เกินดุลสูงถึง 4.64 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ หรือ คิดเป็น 11.6% เทียบกับ GDP โดยดุลการค้าเกินดุลถึง 3.57 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ หรือ 8.9% เทียบกับ GDP ส่วนดุลบริการสุทธิเกินดุล 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ หรือ 2.7% เทียบกับ GDP

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานมูลค่าส่งออกเดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 8.5% YoY เป็น 1.71 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ส่วนมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้น 11.3% YoY เป็น 1.52 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ดุลการค้าเกินดุล 1.9 พันล้านดอลลาร์ฯ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงถึง 5.0 พันล้านดอลลาร์ฯ เป็นการเกินดุลในระดับที่สูงมาก และคาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2560 ยังคงแข็งแกร่ง จะเกินดุลในระดับสูงถึง 4.40 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ หรือ คิดเป็น 11.0% เทียบกับ GDP การเกินดุลการค้าในระดับสูงและเกินดุลภาคบริการระดับปานกลางซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าเพิ่มขึ้น 12% ในปี 2560

มูลค่าส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว 2.6% ในรูปของค่าเงินดอลลาร์ฯ และ 4.3% ในรูปของค่าเงินบาท เนื่องจากราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันดิบ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้นตาม ขณะที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าปีก่อนหน้าโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ OPEC และ Non-OPEC

ฝ่ายวิจัยฯ คาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2560 จะสามารถขยายตัวได้สูงกว่า 3.4% ดีขึ้นจาก 3.1% ในปี 2559 อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2560-2561 มีแนวโน้มขยายตัวใกล้ 2.5% จากนโยบายประชานิยมของ Trump เศรษฐกิจยูโรยังคงขยายตัวในระดับต่ำ 1.5% เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะสามารถขยายตัวได้ 0.8% ในปี 2560 เพิ่มขึ้นจาก 0.5% ในปี 2559 และคาดว่าเศรษฐกิจจีนปี 2560 จะยังคงขยายตัวได้ 6.5% ใกล้เคียงกับปี 2559 ที่ 6.7% ขณะที่ IMF คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวเพียง 6.2% ส่วนเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัว 5.3% เพิ่มขึ้นจาก 4.8% ในปี 2559 เนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรเพิ่มสูงขึ้น ปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่า 4% ในปี 2560 เทียบกับ 2.3% ปี 2559

นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกกลับมาขยายตัวในระดับที่สูงขึ้นเทียบกับปีก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชาชนในประเทศต่างๆ ส่วนการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย (ทัวร์ศูนย์เหรียญ) ในช่วงเดือนตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงในระยะสั้นเท่านั้น หลังจากนั้นจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาตามปกติเมื่อบริษัททัวร์จีนปรับแผนการตลาด และ จะส่งผลให้คุณภาพนักท่องเที่ยวดีขึ้น แต่นักท่องเที่ยวจีนยังมีบทบาทที่สำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่นักท่องเที่ยวจาก อาเซียน และ รัสเซีย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น บวกกับการขยายตัวของธุรกิจการบินต้นทุนต่ำ เป็นปัจจัยบวกให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากขึ้น จะส่งผลให้ดุลบริการสุทธิเกินดุลสูงขึ้นต่อเนื่อง

โดยการปรับปรุงเพิ่มความสามารถการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานนานาชาติ 3 แห่ง คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และ ท่าอากาศยานภูเก็ต จะส่งผลให้ความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 136 ล้านคน ในปี 2563 เพิ่มขึ้น 43% จาก 95 ล้านคน ในปัจจุบัน นอกจากนี้ความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 181 ล้านคน ในปี 2573 หรือ เพิ่มขึ้นอีก 89.5% จากความสามารถในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ภาระหนี้ต่างประเทศเมื่อเทียบกับ GDP ลดลงอยู่ในระดับที่ต่ำมากจนความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศลดต่ำลงขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมกลับมาดีขึ้น เงินทุนส่วนใหญ่มาจากสถาบันการเงินในประเทศขณะที่ตลาดตราสารหนี้ในประเทศพัฒนามากขึ้นสามารถระดมทุนในตลาดทุนด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน

และทุนสำรองระหว่างประเทศแข็งแกร่ง มีศักยภาพรองรับต่อเงินทุนไหลออกในปริมาณมากได้ ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างสูงสุดเป็นอันดับที่ 13 ของโลก โดยหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจเดือนกรกฎาคม 2540 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากระบบตระกร้าเงิน (Basket of Currency) เป็นระบบลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Floated) ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงรุนแรงอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยบวกต่อภาคส่งออกและส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และส่งผลให้ทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิที่ทรุดตัวลงจากการป้องกันการโจมตีค่าเงินบาทช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ค่อยกลับมาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ช่วง 7 ปี ที่ผ่านมา การเกินดุลการค้าและดุลบริการสุทธิมีความแข็งแกร่งเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยหลักมากจากการที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลดลงตั้งแต่ปี 2557 และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น เราคาดว่าการเกินดุลการค้าและดุลบริการสุทธิที่แข็งแกร่งยังคงต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 3 ปี ข้างหน้าถ้าราคาน้ำมันยังต่ำกว่า 90 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล บวกกับธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำยังคงขยายตัวจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มสูงขึ้นต่ำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ในปี 2560 และ ปีต่อๆไป คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2560 จะยังเกินดุลในระดับสูงประมาณ 11.0% เทียบกับ GDP และยังเป็นระดับที่แข็งแกร่งที่ระดับสูงมาก จะส่งผลต่อเนื่องให้ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นต่อไปอีก ปัจจุบันทุนสำรองระหว่างประเทศมากกว่ามูลค่านำเข้ารายเดือนเกินกว่า 10 เท่า และ ทุนสำรองระหว่งประเทศของไทยสูงสุดเป็นอันดับที่ 13 ของโลก

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยฯ ไม่วิตกกังวลว่าเงินทุนไหลออกจากตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นจะส่งผลทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศทรุดลงแต่อย่างไร ยังไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังแข็งแกร่ง การพึ่งพาเงินทุนจากต่างชาติอยู่ในระดับที่ต่ำมากทำให้ทุนสำระหว่างประเทศมีศักยภาพสูงสามารถรองรับกับเงินทุนต่างชาติที่จะไหลออกจากระบบเศรษฐกิจได้เหมือนในช่วงปี 2556 ที่เงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นไทย 1.903 แสนล้านบาท จากที่กังวลว่า Fed จะลดปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (QE tapering) และ ช่วงปี 2558 ที่เงินทุนไหลออก 1.54 แสนล้านบาท จากที่ราคาน้ำมันตลาดโลกทรุดลงรุนแรงและวิตกต่อการประมูลคลื่นความถี่ 4G ในราคาที่แพงมาก ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ