(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยส่งออก ก.พ.กลับมาหดตัว -2.8% จากฐานปีก่อนสูง,นำเข้าโต 20.4% เกินดุลฯ 1,610 ล้านเหรียญฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 22, 2017 11:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน ก.พ.60 โดยการส่งออกมีมูลค่า 18,470 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -2.8% จากตลาดคาดขยายตัว 4.0% เนื่องจากฐานตัวเลขของเดือน ก.พ.59 อยู่ในระดับสูง ขณะที่นำเข้าขยายตัว 20.4% มีมูลค่า 16,860 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,610 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 60 (ม.ค.-ก.พ.) การส่งออกมีมูลค่า 35,569 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 2.5% นำเข้ามีมูลค่า 33,133 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 12.4% เกินดุลการค้า 2,436 ล้านเหรียญสหรัฐ

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 นับจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 51 เศรษฐกิจจีนทรงตัวและมีโอกาสขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อน ในขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในระดับปานกลางจากแรงขับเคลื่อนในประเทศทั้งการบริโภคและการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สนับสนุนให้สถานการณ์ส่งออกไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี เนื่องจากในเดือน ก.พ.59 ไทยมีการส่งออกทองคำและสินค้าหมวดอากาศยานสูง ในขณะที่ปีนี้ไม่มีการส่งออกดังกล่าว จึงทำให้ตัวเลขการส่งออกเดือน ก.พ. 60 หดตัว 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมูลค่าการส่งออกทั้งสองรายการมีสัดส่วนรวมกันสูงถึง 13.5% ของมูลค่าการส่งออกรวมมในเดือนที่แล้ว

แต่หากหักมูลค่าการส่งออกของสินค้าทั้งสองรายการนี้ออกแล้ว พบว่าการส่งออกเดือนก.พ.60 จะขยายตัวถึง 8.5% สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันและการปรับตัวในระดับดีของไทยตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นไปในทิศทางการฟื้นตัวของการส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ความไม่ชัดเจนของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนทางการเมืองของสหภาพยุโรป รวมทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นประเด็นที่ส่งผลต่อการส่งออกไทยในระยะต่อไป

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าววส่า ในเดือน ก.พ.60 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 13.9% (YoY) โดยเฉพาะ ยางพารา ขยายตัว 75.3% ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 23.3% กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 58.7% และข้าวขยายตัว 6.1% ซึ่งการที่สินค้าเกษตรสำคัญเริ่มทยอยปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อนเป็นแนวโน้มที่ดีต่อการส่งออกในระยะต่อไป

ขณะที่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยังคงหดตัวที่ 13.4% จากทั้งปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากจากลาวและกัมพูชา และราคาที่จีนรับซื้อลดลง เช่นเดียวกับน้ำตาลทรายที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 15.0% เป็นผลจากปริมาณส่งออกไปเอเชียและ CLMV ลดลง โดยเฉพาะ อินโดนีเซีย กัมพูชา และจีน แต่ระดับราคาสูงขึ้นจากความผันผวนของอุปสงค์โลกและการเก็งกำไร รวม 2 เดือน กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 9.6%

ด้านสินค้าอุตสาหกรรมมูลค่าการส่งออกหดตัวครั้งแรกในรอบ 2 เดือนที่ 5.9% (YoY) โดยเฉพาะ ทองคำ หดตัว 65.4% รถยนต์และส่วนประกอบหดตัว 6.6% และผลิตภัณฑ์เหล็กหดตัว 1.4% แต่กลุ่มสินค้าที่ยังคงขยายตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณี เครื่องประดับไม่รวมทอง น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัว 20.0% 16.2% 8.5% 17.7% และ 11.6% ตามลำดับ ทำให้รวม 2 เดือน กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 0.6%

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า ตลาดส่งออกสำคัญของไทยราว 46.8% ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากปี 59 แต่ตลาดญี่ปุ่น อาเซียน 5 ทวีปออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา ยังคงหดตัว โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักหดตัว 5.3% เนื่องจากการส่งออกไปญี่ปุ่นหดตัว 22.6%

อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป 15 ประเทศ ยังคงขยายตัว 5.7% และ 5.4% ตามลำดับ สำหรับตลาดศักยภาพสูง ขยายตัว 5.5% จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดจีนและเอเชียใต้ 8 ประเทศ ที่ขยายตัว 31.1% และ 24.1% ตามลำดับ นอกจากนี้ การส่งออกไปยัง CLMV เกาหลีใต้ และไต้หวัน ขยายตัว 22.2% 25.5% และ 15.9% ตามลำดับ

ส่วนส่งออกไปตลาดอาเซียน 5 ประเทศ ตะวันออกกลาง ทวีปออสเตรเลีย และลาตินอเมริกายังหดตัวที่ 23.8% 17.6% 10.4% และ 2.3% ตามลำดับ

ขณะที่การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนในเดือน ก.พ.60 มีมูลค่าทั้งสิ้น 103,819 ล้านบาท ขยายตัว 7.3% รวม 2 เดือนแรก การค้าชายแดนมีมูลค่า 166,742 ล้านบาท หดตัว 2.1% เกินดุลการค้าทั้งสิ้น 46,137 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ