ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยจุดเด่น"P2P Lending"มีต้นทุนต่ำ-เข้าถึงง่าย แต่แนะต้องมีองค์ประกอบเพิ่มอีก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 22, 2017 15:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การเติบโตของเทคโนโลยีและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวางได้ส่งผลให้กระแส Disruptive Economy กินวงกว้างออกไปในทุกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสุขภาพผ่าน HealthTech ธุรกิจประกันภัยผ่าน InsureTech ธุรกิจในตลาดเงินตลาดทุน และบริการทางการเงิน ผ่าน FinTech โดยสำหรับประเทศไทยนั้น ภาพของการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนในเวลานี้ยังคงกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจบริการทางการเงินที่มี FinTech ทยอยเปิดตัว และเข้ามาแข่งขันกับผู้เล่นรายเดิมในตลาด เช่น ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งความหลากหลายของบริการทางการเงินจาก FinTech นับเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่สำคัญในอุตสาหกรรมการเงินของประเทศไทย ที่มาพร้อมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำธุรกรรมทางการเงินของประชาชนในประเทศ

สำหรับในธุรกิจสินเชื่อนั้น FinTech หนึ่งที่น่าสนใจและอาจเกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงเวลาหลายเดือนข้างหน้า ก็คือ P2P Lending (ซึ่งในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินโดยธนาคารแห่งประเทศไทย) กลไกการทำงานของ P2P Lending คือ การจับคู่ผู้ที่ต้องการเงินกู้กับผู้ให้กู้ (นักลงทุน) ผ่านตัวกลาง ซึ่งในที่นี้ คือ ผู้ให้บริการ (P2P Lending Platform) ที่ตั้งอยู่บนระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งนักลงทุนจะเป็นผู้กำหนดขนาดของเงินลงทุนที่จะกระจายไปสู่ผู้กู้ที่มีวัตถุประสงค์ในการกู้แบบใดก็ได้ตามที่นักลงทุนต้องการ

เนื่องจากธุรกิจ P2P Lending Platform มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการ ส่งผลให้มีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินทั่วไปใน 3 ด้าน คือ 1. เข้าถึงง่ายเนื่องจากมีช่องทางในการทำธุรกรรมอยู่บนอินเทอร์เน็ต 2. การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นตัวกลางในการจัดหาผู้กู้และผู้ให้กู้ ส่งผลให้เกิดการประหยัดต้นทุนคงที่จากการตั้งสาขาและการจัดจ้างพนักงานจำนวนมาก 3. สามารถตั้งราคาแข่งขันได้ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป และด้วยต้นทุนในการแข่งขันที่ต่ำกว่านี้เอง ทำให้ P2P Lending เป็นช่องทางการระดมทุนที่นิยมมากในต่างประเทศ

แม้ว่าการประหยัดต้นทุนในการประกอบการ ความสามารถทางการตลาด และการเข้าถึงลูกค้า จะเป็นจุดสำคัญที่เสริมสร้างให้ P2P Lending Platform มีข้อได้เปรียบเหนือตัวกลางทางการเงินในปัจจุบัน แต่ปัจจัยเหล่านี้ยังไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะยืนยันความสามารถในการประกอบการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเกิดขึ้นของ P2P Lending Platform ในประเทศไทย ยังต้องการองค์ประกอบเพิ่มเติมอย่างน้อย 3 ประการ เพื่อให้เพียงพอต่อการจัดตั้งเป็นตัวกลางทางการเงิน คือ 1. การทดสอบความแข็งแกร่งของ Platform 2. การประเมินความเสี่ยงที่มีสิทธิภาพ และ 3. การติดตามทวงหนี้และการฟ้องร้องตามกฎหมาย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หากมองในมิติความยั่งยืนของ P2P Lending Platform ในฐานะตัวกลางทางการเงินนั้น คงต้องยอมรับว่า Platform ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยยังขาดองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญที่มีผลต่อประสิทธิภาพในการควบคุมอัตราการผิดนัดชำระหนี้ และรองรับความผันผวนของระบบเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดในอนาคต โดยมองว่า Platform และหน่วยงานของทางการที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับและดูแลสามารถร่วมกันพัฒนาคุณภาพขององค์ประกอบพื้นฐานผ่านการสร้างข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อเป็นการเสริมสร้างคุณภาพและความแข็งแกร่งให้กับกลไก P2P Lending ได้ นั่นคือ 1. กำหนดเกณฑ์สำรองทุนประกันเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับ Platform และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน 2. การสร้างเงื่อนไขสินทรัพย์ค้ำประกันเพื่อลดความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ และ 3. การจัดจ้างบริษัทในการติดตามทวงหนี้เพื่อปิดความเสี่ยงในกระบวนการกู้ยืม

โดยในระยะถัดไป Platform อาจจะต้องขยายกลุ่มลูกค้าออกไปสู่กลุ่มผู้กู้ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน สำหรับผู้กู้ที่ต้องการวงเงินในการกู้ที่สูงขึ้น หรืออาจจะเป็นการเสนอจากผู้กู้เองเพื่อเหตุผลในการสร้างความเชื่อมั่นและจูงใจนักลงทุน และได้รับดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำลง ซึ่ง Platform ที่เตรียมการรองรับทางเลือกสำหรับสินทรัพย์ค้ำประกันไว้ จะเป็นผู้ที่สามารถดึงดูดผู้กู้ที่มีความเสี่ยงต่ำไว้เป็นสมาชิกกับ Platform ได้ ซึ่งเป็นผลดีต่อการควบคุมอัตราการผิดนัดชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม การจัดให้มีเงื่อนไขสินทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ก็จะสร้างต้นทุนส่วนเพิ่มให้กับผู้ประกอบ P2P Lending Platform ด้วยเช่นกัน เนื่องจากจะต้องมีการตั้งทีมงานเพิ่มขึ้นมาประเมินมูลค่าและตีราคาสินทรัพย์ ตรวจสอบกรรมสิทธิ์ของสินทรัพย์ ตลอดจนการนำสินทรัพย์เพื่อขายทอดตลาด ซึ่งเท่ากับว่า P2P Lending Platform ต้องมีการบริการจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพควบคู่กันไปด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากจุดแข็งของการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปสู่ผู้กู้หลายคน อาจกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ต้นทุนในการฟ้องร้องและบังคับคดีที่สูงขึ้น เนื่องจากมูลหนี้ที่มีขนาดเล็กและมีคู่สัญญามากมาย ดังนั้นในอนาคตนักลงทุนในไทยอาจจะต้องมีการสอบถามถึงกระบวนการติดตามทวงหนี้ รวมถึงการฟ้องร้องตามกฎหมายจากผู้ประกอบการอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการเพื่อมาประกอบการตัดสินใจเลือกลงทุนกับ Platform แต่ละราย

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจัยที่ P2P Lending Platform สามารถควบคุมมาตรฐานและปิดความเสี่ยงด้วยตัวเองได้ เช่น การทดสอบระบบของ Platform ให้มีความแข็งแกร่งปลอดภัย การมีทุนประกันเพื่อรองรับความเสี่ยง หรือการติดตามทวงหนี้ ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้น ณ ขั้นตอนท้ายๆ ของกระบวนการปล่อยสินเชื่อ แต่ปัจจัยสำคัญที่เป็นหัวใจหลักในกระบวนการคัดเลือกผู้กู้ที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อให้สินเชื่อ เช่น มาตรฐานข้อมูลพฤติกรรมของผู้กู้ ยังเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการพัฒนาในอนาคตเพื่อเติมเต็มและเพิ่มความสมบูรณ์ของข้อมูลเครดิต โดยต้องยอมรับว่าสำหรับ P2P Lending Platform ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไทยนั้น อาจต้องอาศัยศูนย์บริการข้อมูลด้านเครดิตกลางของประเทศในการประเมินความเสี่ยงในการปล่อยกู้ อันจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในระยะก่อตั้งได้

โดยสรุป ประเด็นที่สำคัญของการเริ่มดำเนินธุรกิจ P2P Lending Platform ในประเทศไทยนั้น จะอยู่ที่เสถียรภาพของตัวกลาง นั่นคือการวางระบบและการประเมินความเสี่ยงสำหรับการปล่อยกู้ระหว่างบุคคลกับบุคคล หรืออีกนัยหนึ่งคือ ตัว Platform เองจะต้องสามารถตอบโจทย์และรองรับเงื่อนไขความต้องการทั้งจากฝั่งผู้กู้และนักลงทุน ตลอดจนสามารถปิดความเสี่ยงตั้งแต่กระบวนการเริ่มตรวจสอบพิจารณาเครดิตของผู้กู้ ไปจนถึงกระบวนการดำเนินคดีหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ ในขณะที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลและกำกับเสถียรภาพของระบบการเงิน จำต้องสร้างบททดสอบอย่างละเอียดต่อ P2P Lending Platform เพื่อหามาตรการและข้อกำหนดที่สำคัญ สำหรับควบคุมปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น และส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินของประเทศมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ