กยท.จับมือเอกชนผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลร่วมพัฒนาการจัดการสวนยางให้มีมาตรฐานสากล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มการขาย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 23, 2017 16:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยว่า ล่าสุด กยท. และบริษัท นัมเบอร์ไนน์ กรีนพาวเวอร์ จำกัด ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อพัฒนา และสร้างเกณฑ์การจัดสวนยางอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐานในระดับสากล หวังเพิ่มมูลค่าไม้ยางพาราให้กับเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ด้วยการใช้ไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราในการจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมไม้ยางพารา และผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราอย่างครบวงจร โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

"บทบาทของ กยท. จะสนับสนุน ส่งเสริมและให้ความรู้เกษตรกรชาวสวนยาง ให้เห็นถึงความสำคัญและโอกาสในการพัฒนาสวนยางของเกษตรกรตามมาตรฐานระดับสากล เช่น มาตรฐาน FSC(Forest Stewardship Council) หรือ PEFC (Programme for the Endorsement of Forest Certification) เพื่อเพิ่มมูลค่าไม้ยางพาราให้กับเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ โดยใช้ไม้ยางพาราและเป็นผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราในการจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ หากเกษตรกรชาวสวนยางสนใจ กยท. พร้อมให้การสนับสนุนส่งเสริมและให้ความรู้อย่างเต็มที่"นายธีธัช กล่าว

ด้านนายวระชาติ ทนังผล กรรมการผู้จัดการ บริษัท นัมเบอร์ไนน์ กรีนพาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นโอกาสในการสนับสนุนสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และกระตุ้นให้เกษตรกรชาวสวนยางเห็นถึงความสำคัญในการจัดการสวนยางให้อยู่ในระดับมาตรฐานระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐาน FSC เนื่องจากมาตรฐานดังกล่าว จะเป็นการรับรองคุณภาพและที่มาของไม้ยางส่งออกจากไทย ว่าเป็นสินค้าคุณภาพที่เกิดจากการจัดการสวนยางอย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าในการขายไม้ยางพารา และผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราไปยังต่างประเทศ

“ปัจจุบันตลาดในต่างประเทศมีความสนใจและมีความต้องการไม้ยางพาราจากไทยค่อนข้างสูง โดยการใช้ไม้ยางพารา และเศษไม้ยางที่เหลือจากการแปรรูปมากถึง 80 % เมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจพลังงานเชื้อเพลิง แต่เราผลิตและจำหน่ายเพียงในประเทศเป็นหลัก และสามารถส่งออกเพียงบางประเทศเท่านั้น เนื่องจากตลาดใหญ่ๆ ในต่างประเทศ เช่น ยุโรป และญี่ปุ่นมีความต้องการพลังงานทางเลือกมากก็จริง แต่ต้องมีมาตรฐานสากลในการรับรองถึงที่มาของแหล่งวัตถุดิบจึงจะสามารถส่งออกได้ ซึ่งมาตรฐาน FSC จะเป็นตัวยืนยันได้ว่า ไม้จากสวนยางพาราของประเทศไทยที่ใช้ผลิตพลังงานชีวมวล เกิดจากการบริหารจัดการสวนอย่างเป็นระบบตามมาตรฐาน FSC ที่สากลยอมรับ ดังนั้น หากสวนยางในประเทศสามารถดำเนินการจัดการสวนยางตามมาตรฐานดังกล่าวได้จะเป็นการเพิ่มโอกาสและรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มขึ้น โดยทางบริษัทมีความพร้อมในการสนับสนุน ด้านการอบรม และให้ความรู้ถึงผลตอบแทนเมื่อเกษตรกรนำสวนยางเข้าสู่มาตรฐานนี้ และทางบริษัทตั้งเป้าไว้ประมาณ 10,000 – 15,000 ไร่ ต่อปี ซึ่งการร่วมมือกับทาง กยท. ในครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสที่ดีให้แก่พี่น้องชาวสวนยางมากขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน" นายวระชาติ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ