BOI ชงบอร์ดอนุมัติส่งเสริมลงทุน 10 โครงการมใหม่พรุ่งนี่ มูลค่า 3-4 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 23, 2017 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบีโอไอในวันพรุ่งนี้ (24 มี.ค.) จะพิจารณาให้การส่งเสริมการลงทุนอีกราว 10 โครงการ มูลค่า 3-4 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ BOI ตั้งเป้ามีผู้ยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งปีนี้ราว 6 แสนล้านบาท ขณะที่ยอดคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.60) ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าหลังประกาศนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ไปแล้วในเดือน ก.พ.60 จะส่งผลให้มีคำขอเข้ามามากขึ้นในช่วงกลางปีนี้

"ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีคำขอเข้ามาพอๆ กับปีก่อน ซึ่งถือว่าน่าพอใจ เพราะปีก่อนมีฐานตัวเลขสูง อีกอย่างเราเพิ่งประกาศนโยบายใหม่ไปเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาฯ คิดว่าจะเห็นผลได้ราวกลางปีนี้" นางหิรัญญา กล่าว

เลขาธิการ BOI มั่นใจว่า การขอรับส่งเสริมการลงทุนในปีนี้จะขยายตัวได้ตามเป้าหมาย โดยเร็วๆ นี้รัฐบาลเตรียมพิจารณาเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งมีบริษัทยานยนต์ให้ความสนใจค่อนข้างมาก ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง BOI เตรียมออกไปโรดโชว์นโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ที่โตเกียวและโอซาก้าเพื่อดึงดูดการลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในช่วงเดือน เม.ย.นี้

สำหรับการชี้แจงรายละเอียดของ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับแก้ไข และ พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นในวันนี้ เนื่องจากรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการมากกว่าการลงทุนทั่วไป

ขณะที่นักลงทุนรายเดิมก็สามารถเข้าร่วมโครงการเพื่อรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมได้ เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยใช้พลังงานทดแทนจากแสงแดดในการผลิตไฟฟ้า, ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในประเทศเพื่อทำการวิจัยและพัฒนา ซึ่งขยายสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า จากเดิม 2 เท่า

นอกจากนี้ BOI ยังได้จัดตั้งฐานข้อมูลสำหรับนักลงทุน การอำนวยความสะดวกในเรื่องใบอนุญาตในการทำงาน และจัดตั้งกองทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา 1 หมื่นล้านบาท

"เดิมการให้สิทธิประโยชน์แค่ 8 ปีไม่เพียงพอที่จะจูงใจให้เกิดการลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีและทุนมนุษย์ ทำให้ต้องขยายเวลาออกไปเป็น 13 ปี และสูงสุดถึง 15 ปี" นางหิรัญญา กล่าว

เลขาธิการ BOI กล่าวอีกว่า เร็วๆ นี้จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาโครงการใหม่อีก 1 ชุด นอกเหนือจากการส่งเสริมการลงทุนทั่วไป เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้

ส่วนการจัดตั้งเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ขณะนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้วเพื่อรอกฎหมายออกมาบังคับใช้ ซึ่งผู้ที่ไปลงทุนในพื้นที่โครงการ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง จำนวน 155 รายการจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางเพิ่มเติมจากเดิม แต่จะต้องยื่นคำขอภายในปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ