ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยสินเชื่อสุทธิระบบแบงก์พาณิชย์ไทย ก.พ.60 ฟื้นโตดี,คาดสภาพคล่อง Q1/60 ผ่อนคลายลง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 24, 2017 13:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือน ก.พ.60 พบว่า สินเชื่อสุทธิปรับตัวดีขึ้นจากสินเชื่อภาคธุรกิจ โดยภาพรวมสินเชื่อกลับมาเพิ่มขึ้น 0.49% MoM (+1.57% YoY) จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อภาคธุรกิจทั้งในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ และธนาคารขนาดเล็กบางราย โดยเฉพาะสินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) และสินเชื่อประเภทมีระยะเวลา (Term Loan)

อย่างไรก็ตาม คาดว่าแรงหนุนจากสินเชื่อภาคธุรกิจในภาพรวมคงจะยังไม่ฟื้นตัวได้เด่นชัดนักในช่วงครึ่งแรกของปี โดยยังต้องรอการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนที่อาจจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

สำหรับสินเชื่อในกลุ่มธนาคารขนาดกลางและเล็กส่วนใหญ่ ยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการชะลอตัวของสินเชื่อรายย่อย เนื่องจากการชำระคืนสินเชื่อประเภทบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงสินเชื่อเช่าซื้อใหม่ที่ยังไม่ฟื้นตัวชัด จึงยังเพิ่มขึ้นไม่เพียงพอที่จะชดเชยยอดชำระคืนสินเชื่อเดิม ประกอบกับสินเชื่อเอสเอ็มอียังค่อนข้างทรงตัว

อย่างไรก็ดี คาดว่าแนวโน้มสินเชื่อเช่าซื้อจะมีโอกาสปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.60 โดยมีอานิสงส์จากยอดขายรถใหม่ที่กระเตื้องขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์นั่งที่มีการออกรถรุ่นใหม่ ประกอบกับอาจมีดีมานด์เพิ่มขึ้นบางส่วนจากกลุ่มที่ปลดล็อกสินเชื่อโครงการรถคันแรกลงได้

ด้านภาพรวมเงินฝากเดือน ก.พ.60 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน 1.15 แสนล้านบาท (1.01% MoM และ 2.95% YoY) ซึ่งกระจายไปยังธนาคารทั้ง 3 กลุ่ม และเพิ่มขึ้นทั้งเงินฝากออมทรัพย์และประจำ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังทรงตัว การแข่งขันทางด้านราคาระหว่างผู้เล่นรายใหญ่ยังคงไม่ชัด ซึ่งคาดว่าคงเป็นผลจากการที่ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุนการเงินและสภาพคล่องให้เกิดประโยชน์สูงสุด แม้ว่าในระหว่างเดือนจะมีการออกแคมเปญเงินฝากพิเศษของบางธนาคารออกมาก็ตาม

ทั้งนี้ แม้เม็ดเงินฝากในระบบธนาคารจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเงินให้สินเชื่อ แต่ภาพรวมสภาพคล่องของธนาคารตึงตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการครบกำหนดของหุ้นกู้และการไถ่ถอนตราสารหนี้ของธนาคารส่วนใหญ่ อันส่งผลให้ปริมาณตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมลดลงรวมกันกว่า 6 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งปรับลดลงกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท

ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นส่งผลให้สัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ในเดือน ก.พ.60 ขยับขึ้นเล็กน้อยมาที่ระดับ 90.64% จาก 90.62% ในเดือนก่อนหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังประเมินว่า ภาพรวมการเบิกใช้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 1/60 น่าจะมีโมเมนตัมที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีแรงหนุนจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) การขยายตัวต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 2)การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต ซึ่งกระตุ้นความต้องการเงินทุนหมุนเวียนของผู้ประกอบการ และ 3) แรงกดดันการชำระคืนสินเชื่อจากภาครัฐมีทิศทางบรรเทาลงจากปีก่อนหน้า (แม้ว่าจะเผชิญการชำระคืนสินเชื่อจากรายย่อยและผู้ประกอบการบางส่วน ซึ่งเป็นปัจจัยเชิงฤดูกาล)

ดังนั้น คาดว่าอัตราการเติบโตของเงินให้สินเชื่อสุทธิของ 14 ธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะเร่งขึ้นมาแตะระดับ 1.7% YoY เมื่อจบไตรมาสแรกของปี เทียบกับระดับการเติบโตที่ 1.3% YoY ในสิ้นปี 59 และ 1.6% YoY ในเดือน ก.พ.60

ส่วนประเด็นปัญหาคุณภาพสินทรัพย์นั้น แม้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) จะเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจฟื้นตัว แต่เป้าหมายของแต่ละธนาคารที่ต้องการลดหรือประคองสัดส่วนหนี้ NPLs ต่อสินเชื่อรวมยังถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ทำให้ธนาคารยังคงให้น้ำหนักกับนโยบายเครดิตที่รัดกุมและดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีและลูกค้ารายย่อยที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

สำหรับทิศทางเงินฝากนั้นข้อมูลแคมเปญเงินฝากออกใหม่ของธนาคารพาณิชย์ในช่วง 2 เดือนแรกของปี บ่งชี้ว่าการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อชดเชยเงินฝากประจำที่ครบกำหนดเป็นหลักอันสอดคล้องกับการเติบโตของเงินฝากในช่วง 2 เดือนแรกของปีที่เป็นผลจากปัจจัยเฉพาะ เช่นการพักเงินชั่วคราวของภาครัฐและภาคเอกชนมากกว่าผลจากการแข่งขันระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะยังไม่เห็นภาพการแข่งขันระดมเงินฝากอย่างชัดเจนแต่ก็เริ่มเห็นการปรับกลยุทธ์การบริหารเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพื่อรับมือกับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในตลาดการเงินโลกผ่านการหันมาออกผลิตภัณฑ์เงินฝากระยะยาวกว่า 1 ปีเพื่อล็อกต้นทุนดอกเบี้ยเทียบกับปีก่อนที่ธนาคารส่วนใหญ่นิยมออกแคมเปญเงินฝากระยะสั้น ดังนั้นด้วยการปรับกลยุทธ์ดังกล่าวของธนาคารพาณิชย์ บวกกับปัจจัยเฉพาะด้านการพักเงินของลูกค้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินว่าสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 1/2560 นี้น่าจะมีทิศทางผ่อนคลายลงเล็กน้อย โดยสัดส่วน LTD+Borrowing น่าจะยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 91.0% เทียบกับสิ้นปี 59 ซึ่งอยู่ที่ 91.3%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ