นายกฯวอน NGO ช่วยส่งเสริม-ตรวจสอบโครงการ โดยไม่มุ่งค้านอย่างเดียว เพื่อสร้างประโยชน์-ศก.แก่ประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday March 25, 2017 10:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านสถานีโทรทัศน์เมื่อคืนนี้ เรียกร้องให้องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) เข้ามามีบทบาทร่วมกัน ในการช่วยส่งเสริม ช่วยตรวจสอบ แก้ผิดให้เป็นถูก หาทางออกร่วมกัน ไม่มุ่งคัดค้านตลอดเวลา โดยให้คิดถึงผลได้ผลเสีย เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศ ตามเป้าหมายของรัฐบาลที่จะสร้างความ“มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน"

"บทบาทของ NGO ทั้งในประเทศและในต่างประเทศ ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน หากเรายังไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมรับการพัฒนาประเทศของเรา แล้วก็ไม่เข้าใจบทบาทของรัฐ คือคิดเดิม ๆ แล้วทำแบบเดิม ๆ วันนี้เราเปลี่ยนแปลงมามากแล้วในเรื่องของการบริหารจัดการแผ่นดิน ข้าราชการ ระเบียบ กฎหมาย เปลี่ยนแปลงมามาก ก็ไม่อยากจะให้มุ่ง แต่ประเด็นในกิจกรรมตนเองเท่านั้น...เพราะฉะนั้นเราอย่าไปคิดอะไรที่แบบตกขอบ มองข้ามประเด็นส่วนรวม อะไรที่เป็นวาระแห่งชาติ อะไรเพื่อคนไทย เพื่อประเทศไทย เราก็จะต้องมีบทบาทร่วมกัน ในการช่วยส่งเสริม ช่วยตรวจสอบ แก้ผิดให้เป็นถูก หาทางออกร่วมกัน ถ้าโจมตีอย่างเดียว บางอย่างก็เสียหาย ช่วยกันแก้ดีกว่า"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า "เพราะฉะนั้นเราอย่าทำตัวกันเป็น “จระเข้ขวางคลอง" เลย หรือไม่ก็ ปิดหู ปิดตา คัดค้านตลอดเวลา โดยไม่ชั่งน้ำหนัก "ทุกอย่างมีได้ ก็มีเสีย แล้วก็ไม่มีอะไรที่จะได้มาฟรี ๆ อยากได้อะไรก็ต้องทำเอง รัฐบาลก็จะช่วยให้เสริมให้ สนับสนุนให้ แต่เราจะทำอย่างไรให้“ได้คุ้มกับที่เสียไป" ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผังเมือง เรืองพลังงาน คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ถนนหนทาง มีปัญหาหมด เพราะว่าเราปล่อยปละละเลยจนกระทั่งประชาชนเข้าไปอยู่ในพื้นที่ซึ่งทำให้ทำอะไรไม่ได้ ก็คัดค้าน ต่อต้านตลอด แล้วก็บอกว่ามีรายได้น้อย แล้วจะให้ทำอย่างไร เศรษฐกิจดีขึ้นไม่ได้ ถ้าทุกอย่างเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันไม่ได้ เรารักษาแต่เพียงว่า ก็ดูแลให้เขาอยู่ที่เดิมไปเรื่อย ๆ"

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาบทบาทของ NGO เป็น 1 ใน 5 ปัญหาที่เป็นปัญหาสำคัญและอุปสรรคของประเทศไทย ซึ่งควรจะมีความร่วมมือในการแก้ไข เพื่อช่วยกันเดินไปด้วยกัน นอกเหนือจากปัญหาบทบาท NGO แล้วยังประกอบด้วย ปัญหาการจัดทำผังเมือง ซึ่งการจัดผังเมืองที่ได้ทำไปแล้ว แต่ดำเนินการไม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็มีผลไปถึงการปฏิรูปที่ดินต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 1 ใน 6 ยุทธศาสตร์ 20 ปี เพื่อจะแก้ปัญหาระยะยาวต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องการพัฒนาแต่ละเรื่องนั้นจะหลีกเลี่ยงผลกระทบเลยคงไม่ได้ ไม่มีอะไรที่ได้ทั้งหมด 100% ต้องมีผลกระทบบ้าง แต่การกระทำใด ๆ ก็ตามนั้น จะเน้นในเรื่องของการที่มีส่วนร่วม ส่วนรวมจะต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน มีผู้เสียผลประโยชน์ในเบื้องต้นให้น้อยที่สุด แล้วก็จะได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม ได้ผลประโยชน์กลับคืนมาในภายหลังอีกด้วย

ปัญหาการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมร่วมกัน ทำทุกอย่างให้เป็นการถูกกฎหมาย ถูกต้อง แข่งขันเสรี มีการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส แล้วไม่ให้เกิดพัวพันไปถึงเรื่องการทุจริต ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ก็เป็นปัญหาของประเทศ มาเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว ติดขัด ทำอะไรไม่ได้มากนักในการพัฒนาขนาดใหญ่ รัฐบาลนี้ก็ได้กำหนดให้เป็น “วาระแห่งชาติ"เช่นกัน โดยจะมุ่งมั่นแก้ไขให้ได้ในเร็ว ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมาย และการป้องกันสังคมให้ปราศจากคอร์รัปชั่น ซึ่งต้องเป็นหน้าที่ของพลเมืองทุกคน ที่ต้องช่วยกันเป็นหู เป็นตา เพราะว่ามีผลเสียตกที่ทุกคน และผู้ได้รับประโยชน์คือคนไทยทั้งประเทศ

เรื่องการลงทุนเพื่ออนาคตนั้น เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สร้างความมั่งคั่งของชาติ ใน “การสร้างความสามารถในการแข่งขัน" ก็เป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งใน 6 ยุทธศาสตร์ ซึ่งในส่วนของการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตนั้น เป็นปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสำคัญ และต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องในระยะยาว

"ขอความร่วมมือกับบรรดา NGO ทั้งหลาย ทั้งที่หวังดีหรืออาจจะไม่เข้าใจช่วยกันดูแลในเรื่องการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งต้องให้สมดุลกับการรักษาทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม ถ้าอันใดอันหนึ่งไม่สมดุลกันก็ไปไม่ได้ทั้งคู่ แล้วก็รักษาไม่ได้ทั้งสองอย่าง แล้วประชาชนก็ไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกมิติ"นายกรัฐมนตรี กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาต่อไป เป็นปัญหาด้านการศึกษา ที่จะเน้นเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การขาดหลักคิด ไม่ใช่คิดเป็น แต่ไม่มีหลักในการคิดที่ถูกต้อง ชอบธรรม มีศีลธรรม มีคุณธรรม จริยธรรม ถ้าคิดแบบอะไรก็ได้ ก็อาจจะมีทั้งถูกทั้งผิด เพราะจะเป็น“ต้นตอ" ของทุกปัญหา แต่ถ้ามีหลักที่ถูกต้อง แล้วปรับหลักคิดให้สอดคล้องต้องกัน รับฟัง ปรึกษาหารือกัน ก็จะไปได้เร็ว สำหรับการพัฒนาประเทศ ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้ว มีกำลังทุ่มเทอย่างมากในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ถึงมีผลสำเร็จมาโดยตลอด ซึ่งไทยจะต้องเร่งดำเนินการ ให้มีคุณภาพ ด้วยการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ

ปัญหาสุดท้าย คือปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งมีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศมีปัญหา มีหน่วยเศรษฐกิจหลายอย่าง หลายขนาด ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน SME ที่ผ่านมามีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันน้อยมาก ต่างคนต่างทำเพื่อจะสนับสนุนของตัวเอง แต่ไม่มีความเชื่อมโยงต่อกัน เพราะฉะนั้นมูลค่าก็ไม่เกิดในภาพรวม ดังนั้น จะต้องคิดเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องเศรษฐกิจ และเดินหน้าต่อไปให้ได้ ต้องติดตามให้รู้เท่าทัน อีกทั้งกฎหมายซึ่งจะเป็นกฎเกณฑ์ เป็นหลักปฏิบัติที่จะทำให้กับทุกฝ่าย ได้มีการดำเนินทุกกิจกรรมด้วยความโปร่งใส เท่าเทียม ในตลาดการค้าเสรี บางอย่างนั้นอาจจะยังไม่ทันสมัย ไม่ทันโลก ไม่ทันเทคโนโลยี ก็เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการทางธุรกิจ ทำให้เกิด “ช่องว่าง" ให้เกิดการ “ฉ้อราษฎร์บังหลวง"

ดั้งนั้น ต้องทำทั้งหมดให้เชื่อมโยงกันให้ได้ ซึ่งรัฐบาลกำลังทำอยู่ ซึ่งไม่ได้แก้กันได้ง่าย ๆ แบบนั้น เพราะฉะนั้นก็อย่าไปบิดเบือนกันอีกเรื่องเศรษฐกิจแบบนี้ อันตราย รัฐบาลนี้มีหน้าที่อำนวยความสะดวก ทางด้านกฎหมาย โครงสร้างพื้นฐาน กฎกติกาต่าง ๆ แล้วในเรื่องของการคมนาคมขนส่ง ระบบสารสนเทศก็ทำตัวเหมือนเป็น “สะพาน" เชื่อมโยง สร้างห่วงโซ่ ในวงจรเศรษฐกิจ ทั้งภายในประเทศ และไปยังต่างประเทศ เราต้องสร้างบรรยากาศ ภาพลักษณ์ ความสัมพันธ์อันดี มีผลต่อความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ และความมั่นคง ในการค้าการลงทุน ทุกคนก็ต้องวางแผนหมดในการใช้จ่าย ใช้เงินทุน ถ้าเขาไม่เชื่อมั่นเขาก็ไปกู้เงินไม่ได้ กู้เงินไม่ได้ ลงทุนไม่ได้ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ