สตง.โชว์การตรวจสอบจัดเก็บรายได้ เรียกเงินคืนคลังได้กว่า 2.4 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 28, 2017 11:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยผลงานการตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ของสำนักตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ในการดำเนินการตรวจสอบและติดตามการจัดเก็บรายได้ ภาษีอากร และรายได้อื่น จำนวนเงินค่าภาษีรวม 24,133.86 ล้านบาท แบ่งเป็นภาษีสรรพากรจำนวน 17,451.34 ล้านบาท จัดเก็บแล้วจำนวน 375.19 ล้านบาท ติดตามการประเมินจำนวน 17,076.15 ล้านบาท ภาษีศุลกากรจำนวน 4,601.79 ล้านบาท จัดเก็บแล้วจำนวน 31.79 ล้านบาท ติดตามการประเมินจำนวน 4,580 ล้านบาท ภาษีสรรพสามิตจำนวน 1,995.79 ล้านบาท จัดเก็บแล้วจำนวน 1,945.79 ล้านบาท ติดตามการประเมินจำนวน 50 ล้านบาท และภาษีท้องถิ่นจำนวน 84.94 ล้านบาท จัดเก็บแล้วจำนวน 78.73 ล้านบาท ติดตามการประเมินจำนวน 6.21 ล้านบาท

โดยได้ตรวจสอบเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีของหน่วยรับตรวจ ดังนี้ กรมสรรพากร การตรวจสอบการจัดเก็บภาษีที่สำคัญ ได้แก่

1.ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะจำนวน 376.85 ล้านบาท ได้จัดเก็บเพิ่มแล้วจำนวน 374.38 ล้านบาท อยู่ระหว่างติดตามการประเมินจำนวน 2.47ล้านบาท

2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่สำคัญคือ

2.1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของนายทักษิณ ชินวัตร กรณีให้ตัวแทนคือนายพานทองแท้ ชินวัตร และนางสาวพินทองทา ชินวัตร ในฐานะกรรมการบริษัท แอมเพิล ริช อินเวสเม้นท์ จำกัด ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด จากบริษัทแอมเพิลริชฯ คนละ 164,600,000 หุ้น ราคา หุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาตลาดอยู่ที่หุ้นละ 49.25 บาท เป็นการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ราคาที่ซื้อต่ำกว่าราคาตลาดมีส่วนต่างของราคาหุ้นละ 48.25 บาท ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำมายื่นเสียภาษี

ในกรณีนี้กรมสรรพากรได้มีการประเมินภาษีบุคคลทั้งสองแล้ว แต่เนื่องจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำวินิจฉัยว่านายทักษิณฯ เป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริงดังนั้นกรมสรรพากรจึงต้องประเมินภาษีเจ้าของหุ้นที่แท้จริง คือ นายทักษิณฯ คิดเป็นภาษี 17,073.68 ล้านบาท ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด 10 ปี คือภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560

2.2 การตรวจสอบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและบุคคลสำคัญ จำนวน 60 ราย อยู่ระหว่างการแจ้งผลของกรมสรรพากร ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะแจ้งให้กรมสรรพากรเร่งดำเนินการต่อไป

กรมศุลกากร การตรวจสอบการจัดเก็บภาษีที่สำคัญได้แก่

1. กรณีเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรคืนเงินภาษีอากรจำนวนเงิน 19.88 ล้านบาท จากการนำเข้ารถยนต์หรูโดยสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงได้ให้กรมศุลกากรดำเนินการเรียกเงินคืนจากผู้นำเข้าแล้ว

2. กรณีบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์น้ำมันไปใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมในบริเวณไหล่ทวีปถือเป็นการค้าชายฝั่ง แต่ได้ดำเนินการค้าแบบส่งออกโดยจัดทำใบขนสินค้าขาออกเพื่อได้รับยกเว้นภาษี สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงได้แจ้งให้กรมศุลกากรดำเนินการยกเลิกใบขนสินค้าขาออก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ อยู่ระหว่างการแจ้งผลการดำเนินการของกรมศุลกากร

3. กรณีการจับกุมเรือสนับสนุนขนส่งน้ำมัน (Supply Boat) สำหรับส่งออกจำนวน 8 ลำของบริษัท เชฟรอน สำรวจและผลิต จำกัด เข้ามาในน่านน้ำอ่าวไทย มูลค่าน้ำมันที่จับได้ 48 ล้านบาท

4. กรณีการจัดเก็บอากรขาเข้าจากการสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง (แอมเวย์) อยู่ระหว่างติดตามการประเมินภาษี จำนวนเงิน 4,580 ล้านบาท ซึ่งกรมศุลกากรได้แจ้งดำเนินการแจ้งประเมินแล้วบางส่วน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะแจ้งให้กรมศุลกากรเร่งดำเนินการต่อไป

กรมสรรพสามิต การตรวจสอบการจัดเก็บภาษีที่สำคัญ ได้แก่

กรณีบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ได้ดำเนินการจัดทำใบขนสินค้าขาออกขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์น้ำมันไปใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมในบริเวณไหล่ทวีป และนำมาขอยกเว้นภาษีกับกรมสรรพสามิต ซึ่งการขนส่งน้ำมันดังกล่าวคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีคำวินิจฉัยว่าพื้นที่ที่ขนส่งไปนั้น เป็นพื้นที่ในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม เมื่อไม่เป็นการส่งออกจึงไม่ได้สิทธิที่จะยกเว้นภาษี สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงได้ให้กรมสรรพสามิตดำเนินการประเมินเพื่อจัดเก็บภาษีให้ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม บริษัท สตาร์ ปิโตเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) โรงกลั่นน้ำมันผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีได้มาขอชำระภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทย กองทุนน้ำมัน และกองทุนอนุรักษ์พลังงาน จำนวนเงินรวม 1,945.79 ล้านบาท โดยยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งกรมสรรพสามิตต้องประเมินภาษีให้ถูกต้องพร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่มอีกครั้ง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะได้ติดตามเร่งรัดต่อไป

ภาษีที่ท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บ สำนักตรวจสอบการจัดเก็บรายได้มีการตรวจสอบการจัดเก็บภาษีที่สำคัญ ดังนี้

1. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

1.1 ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ของกรุงเทพมหานครจากการตรวจสอบโรงแรมขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ จำนวนค่าภาษีรวม 77.18 ล้านบาท ได้จัดเก็บเพิ่มแล้วจำนวน 72.51 ล้านบาท อยู่ระหว่างติดตามการประเมินจำนวน 4.67 ล้านบาท

1.2 ภาษีโรงเรือนและที่ดินของเทศบาล 1 แห่ง มีการจัดเก็บไม่ถูกต้องครบถ้วนจำนวน 1.54 ล้านบาท

2. ภาษีป้ายของกรุงเทพมหานครได้ตรวจสอบและมีการเรียกให้ชำระภาษีจำนวน 6.22 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ