ภาคเอกชน แนะใช้ ม.44 นำ กม.ปิโตรเลียมฉบับเดิมเปิดประมูลแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุก่อนล่าช้าสร้างความเสียหาย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 29, 2017 14:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. กล่าวในงานเสวนาเรื่อง "พ.ร.บ.ปิโตรเลียมสะดุด ฉุดประเทศไทยเสียโอกาส" โดยระบุว่า ต้องการให้รัฐบาลตัดสินใจเดินหน้าการประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อให้ผู้ประมูลได้มีโอกาสสำรวจและผลิตปิโตรเลียมขึ้นมาได้ทัน เพราะหากการประมูลสัมปทานปิโตรเลียมทั้งแหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกชล่าช้าออกไป และผลิตไม่ทัน หลังจากหมดอายุสัมปทานในเดือน เม.ย.65 และ เม.ย.66 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม

ทั้งนี้ ประเมินเบื้องต้นว่าจะทำให้รายได้รัฐหายไปปีละ 2 แสนล้านบาท ต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มปีละ 3.5 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันจะทำให้การจ้างงานลดลงปีละประมาณ 1 หมื่นคน กระทบต่อเงินลงทุนที่จะหายไปปีละ 1.6 แสนล้านบาท รวมถึงมีผลค่าไฟฟ้าให้เพิ่มขึ้นอีกปีละ 1.3 แสนล้านบาท และกระทบผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อีก 3,000 ราย

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ ปตท.สผ.ได้วางแผนลงทุนเพิ่ม เพื่อรักษาระดับการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งบงกชไปจนถึงวันหมดอายุสัมปทานในปี 2566 แล้ว เพื่อให้ปริมาณการผลิตไม่ลดลงไปมากนัก

ด้านนายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอให้รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับเดิมมาบังคับใช้ไปก่อน เพื่อให้การผลิตปิโตรเลียมเกิดความต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าการพิจารณา พ.ร.บ.ปิโตรเลียม จะมีความล่าช้า เนื่องจากขณะนี้ยังมีข้อถกเถียงกันในวงกว้าง และการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวก็เลื่อนมาถึง 6 ครั้ง ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปจะเกิดความเสียหายกับประเทศชาติได้

นอกจากนี้ยังเสนอให้ใช้มาตรา 44 กรณีการนำ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับเดิมกลับมาใช้ เพื่อให้ผู้ผลิตรายเดิมสามารถลงทุนผลิตปิโตรเลียมให้เกิดความต่อเนื่องได้ หรือกรณีสร้างความชัดเจนให้กับ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมใหม่ให้เสร็จโดยเร็ว โดยมั่นใจว่าการใช้มาตรา 44 เพื่อให้ผู้ผลิตรายเดิมดำเนินการต่อนั้นจะทำให้ภาคเอกชนเกิดความเชื่อมั่นต่อความมั่นคงในปริมาณก๊าซของประเทศ

นายบวร กล่าวว่า หากการผลิตก๊าซธรรมชาติสะดุดจะส่งผลกระทบต่อวัตถุดิบการผลิตปิโตรเลียมจนอาจต้องนำเข้าก๊าซ LNG มาใช้แทน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตของภาคเอกชนแพงขึ้น รวมถึงกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประเทศที่ต้องปรับขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการจะผลักภาระมาให้ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ท้ายสุดก็เท่ากับว่าประเทศไทยกำลังเดินถอยหลังเข้าคลอง

"ถ้าแหล่งเอราวัณ แหล่งบงกชหายไป จะทำให้ก๊าซฯ หายไปจากระบบถึง 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน กระทบให้การผลิตไฟฟ้าหายไป 30% และต้องนำเชื้อเพลิงอย่างอื่นมาทำไฟฟ้าแทน ซึ่งค่าไฟฟ้าแพงขึ้น อุตสาหกรรมก็จะได้รับผลกระทบหนัก ค่าสินค้าแพงก็จะส่งผ่านมาให้ผู้บริโภค" นายบวร กล่าว

ขณะที่นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ในมุมมองของนักเศรษฐศาตร์เห็นว่า การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งระบบสัมปทานและระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) ถือว่ามีข้อดีทั้งคู่ เพราะเป็นการพยายามดึงความหลากหลายออกมาใช้ เพียงแต่ขอให้ภาครัฐต้องตัดสินใจให้ไวและมีความชัดเจน เพื่อให้ภาคเอกชนมีโอกาสตัดสินใจที่จะลงทุนต่อ

ทั้งนี้เห็นว่าการลงทุนด้านพลังงานในอนาคตยังมีต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการเริ่มหันไปลงทุนในต่างประเทศแทนที่จะเลือกไทย เนื่องจากความไม่ชัดเจนของภาครัฐ แต่หาก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม มีความชัดเจนแล้ว จะทำให้ผู้ประกอบการกลับเข้ามาลงทุนในไทยได้มากขึ้น

"ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ต้องการให้ภาครัฐมีความชัดเจนเรื่อง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมโดยเร็ว เพื่อสร้างความมั่นใจในการลงทุนกับภาคเอกชน ซึ่งไม่ว่า พ.ร.บ.จะออกมารูปแบบใด เชื่อว่าเอกชนจะปรับตัวได้ และจะส่งผลดีให้เศรษฐกิจประเทศเดินหน้าต่อไปได้" นายอมรเทพ กล่าว

ส่วนนายฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพิจารณา พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ควรตัดสินใจให้เสร็จตั้งแต่ปี 2559 แล้ว ซึ่งขณะนี้นับว่าล่าช้ามาก ส่วนแนวคิดในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOCF) ก็จะกลายเป็นภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะเหมือนตั้งพ่อค้าคนกลางขึ้นมาเพิ่ม ทั้งที่ระบบผลิตและการซื้อขายก็ดำเนินไปได้ด้วยดีอยู่แล้ว

สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงาน ดังนั้นการผลิตก็เพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศและสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งการผลิตปิโตรเลียมมาเท่าไหร่ทาง ปตท.ก็รับซื้อหมด เพื่อนำมาป้อนให้กับผู้บริโภคคนไทย ดังนั้นแม้จะตั้ง NOC ขึ้นมา ท้ายที่สุดก็ต้องขายให้กับ ปตท.เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะมี NOC

"การบริหารจัดการปิโตรเลียมในอดีตที่ผ่านมาไม่ได้มีปัญหา และยังช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง รัฐไม่ควรเข้ามาทำธุรกิจแข่งกับเอกชน เพราะเอกชนทำได้ดีอยู่แล้ว ซึ่งรัฐควรยุ่งเฉพาะกลไกการตลาดล้มเหลว เช่น เกิดการผูกขาดตลาด ก็พอ" นายฐิติศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ