สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีนจัดสัมมนาแนะแนวทาง SME ไทยก้าวสู่ตลาดจีน ย้ำพันธมิตรท้องถิ่นสำคัญ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 29, 2017 16:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เหล่าวิทยากรในงานสัมมนาโต๊ะกลม หัวข้อ “ธุรกิจเอสเอ็มอีไทย ศักยภาพและโอกาสเจาะตลาดแดนมังกร" ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณทิตย์ชี้ สิ่งสำคัญการเข้าสู่ตลาดจีน ก็คือ การศึกษาตลาดและกฎระเบียบข้อบังคับที่มีความซับซ้อน ซึ่งเหล่าวิทยากรแนะนำว่า วิธีการที่ง่ายและดีที่สุด คือการหาพันธมิตรที่เป็นคนท้องถิ่น ซึ่งจะให้คำแนะนำและช่วยจัดการในด้านนี้ได้เป็นอย่างนี้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้บริโภคชาวจีนที่กำลังเปลี่ยนไป

คุณมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ SME Development Bank กล่าวถึงบทบาทอันสำคัญของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ในการให้การสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจSME ทั้งในด้านเงินทุนและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีศักยภาพเพื่อเข้าสู่ตลาดสากล “ศักยภาพของธุรกิจ SME นับว่ามีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ที่บรรดาธุรกิจขนาดใหญ่ต่างหันมาใช้เครื่องจักรแทนการใช้แรงงานคนเป็นส่วนใหญ่ ธุรกิจ SME เหล่านี้จะช่วยสร้างการจ้างงานให้กับประเทศของเรา และนี่คือเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจ SME" คุณมงคลกล่าว

ด้านคุณชาตรี เวทสรณสุธี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการและร่วมลงทุน2 ระบุว่า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ได้ทำงานร่วมกับทั้งภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการพัฒนามากขึ้น โดยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ด้วยการสร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้าเหล่านั้น พร้อมทั้งย้ำว่า เราควรตระหนักอยู่เสมอว่าจะทำอย่างไรให้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นมีมูลค่ามากที่สุด โดยคุณชาตรีได้ยกตัวอย่าง ผลไม้ไทยอย่างสับปะรด ซึ่งเป็นที่นิยมมากในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีน จากเดิมที่ขายเพียงกิโลกรัมละไม่กี่สิบบาท ในตอนนี้มีผู้ประกอบการไทยนำสับปะรดมาเพิ่มมูลค่าด้วยการสร้างแบรนด์ ใส่บรรจุภัณฑ์ดีๆ และทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเป็นสินค้าที่มีลักษณะเด่นไม่เหมือนใคร จนกระทั่งสามารถขายสัปปะรดได้ในราคาหลักพันบาท

สำหรับความน่าสนใจของตลาดจีนนั้น ดร.เกียรติ์อนันต์ แห่งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณทิตย์ มองว่า แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันดูเหมือนจะชะลอตัวลง แต่เป็นการชะลอตัวเพื่อก้าวไปข้างหน้า โดยในปัจจุบันจีนจะเน้นการนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักร เครื่องมือ เทคโนโลยี เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า SME จะไม่มีโอกาสเข้าไปยังตลาดจีน เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวจีนเองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดร.เกียรติ์อนันต์ ระบุว่า ไทยเองก็ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้มีความสามารถในการแข่งขันเทียบเท่าตลาดจีน เพราะฉะนั้นวิธีการที่ดีที่สุดก็คือการจับมือแล้วโตไปพร้อมๆกัน โดยยกตัวอย่างถึงโมเดลเรือสำเภา ซึ่งนับว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจที่จะเข้าไปยังตลาดจีน คือเรานำสินค้าของเราไปขายที่จีน แต่ในขณะเดียวกันก็นำสินค้าจากจีนเข้ามาขายในเมืองไทยด้วย โดยวิธีนี้จะช่วยชดเชยความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินหากต้องมีการซื้อขายกันในสกุลเงินของแต่ละประเทศได้อีกด้วย

ส่วนธุรกิจ SME ที่กำลังมองหาโอกาสเข้าสู่ตลาดจีน ดร.ธารากร แนะนำว่า สินค้าที่เป็นพวกผลผลิตทางการเกษตรแปรรูป ไม่ว่าจะเป็นผลไม้อบแห้ง ยาหม่องสมุนไพร หรือแม้แต่เครื่องสำอางที่ทำจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน หากแต่ผู้ประกอบการควรตระหนักไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่สินค้าได้รับความนิยมในตลาด เมื่อนั้นจะเกิดสินค้าลอกเลียนแบบขึ้นมา ซึ่งนี่เป็นปัญหาหนึ่งสำหรับสินค้าต่างจากต่าประเทศที่เข้าสู่ตลาดจีน

ขณะที่คุณสุจินต์ จากสภาอุตสาหกรรมเซรามิก ยังยกตัวอย่างเครื่องเบญจรงค์ ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนที่มีกำลังซื้อสูง แม้ว่าเครื่องเซรามิกจะเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของจีน แต่ผู้บริโภคไว้วางใจในด้านคุณภาพและภาพลักษณ์ของเซรามิกจากไทย พร้อมแนะนำให้ผู้ประกอบการไทยมองหาวัตถุดิบที่มีอยู่มากมายในประเทศ มาแปรรูปเพื่อคว้าโอกาสจากตลาดจีน

ทั้งนี้ สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณทิตย์ จัดงานสัมมนาโต๊ะกลม หัวข้อ “ธุรกิจเอสเอ็มอีไทย ศักยภาพและโอกาสเจาะตลาดแดนมังกร" พร้อมเชิญวิทยากรชั้นนำจากแวดวงธุรกิจ อาทิ คุณชาตรี เวทสรณสุธี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการและร่วมลงทุน2 ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานวิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณทิตย์ อาจารย์ธารากร วุฒิสถิรกุล เลขาธิการ สมาคมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฯ คุณสุจินต์ พิทักษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯกลุ่มเซรามิก มาร่วมแนะนำแนวทางเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจเอสเอ็มอีไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการคว้าโอกาสจากตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญและน่าสนใจมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ