นบขพ.สั่ง อคส.ระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในสต็อกรัฐ 8.4 หมื่นตัน ลดภาระค่าเก็บรักษา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 29, 2017 18:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช.พาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ว่า ที่ประชุมฯ ได้อนุมัติในหลักการให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในสต็อกรัฐบาลจากโครงการแทรกแซงราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 51/52 ปริมาณ 84,134.73 ตัน จากปริมาณที่เหลือในสต็อก 94,168.98 ตัน เพื่อลดภาระค่าเก็บรักษาเดือนละราว 7 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 10,034.25 ตัน ให้ อคส.หาข้อยุติในส่วนของคดีความโดยเร็ว เพื่อให้นำมาระบายให้หมดต่อไป

"ข้าวโพด 84,134 ตัน ที่จะเปิดระบายในเร็วๆ นี้จะขายตามสภาพ เพราะเก็บมานานเกือบ 10 ปี คุณภาพไม่ได้แล้ว โดยให้ อคส.เจรจากับเจ้าของคลังสินค้า หรือผู้ซื้อที่เสนอราคาซื้อสูงสุดในแต่ละคลัง แล้วนำเสนอประธาน นบขพ.พิจารณาอนุมัติขายต่อไป โดย อคส.ต้องกำหนดมาตรการไม่ให้นำข้าวโพดล็อตนี้กลับเข้าสู่วงจรตลาดปกติด้วย" นายสนธิรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังมีมติให้ปรับลดอัตราการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ อัตราส่วน 1:3 เป็น 1:2 สำหรับผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่ไม่มีบริษัทในเครือรองรับการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์อื่น หลังได้รับการร้องเรียนจากผู้ผลิตอาหารสัตว์รายหนึ่งว่า จำเป็นต้องนำเข้าข้าวสาลีคุณภาพสูงมาใช้ ด้วยเหตุผลทางโภชนาการและการควบคุมการผลิต ซึ่งการกำหนดสัดส่วน 1:3 ทำให้บริษัทต้องซื้อข้าวโพดในประเทศเพิ่มขึ้น และไม่ได้นำมาใช้ เพราะไม่มีบริษัทในเครือที่จะนำข้าวโพดส่วนเกินมาใช้ได้ จึงทำให้ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวของรัฐ

"ที่ประชุมลดสัดส่วนจาก 1:3 เหลือ 1:2 เฉพาะกับผู้ผลิตอาหารสัตว์เพียง 1 ราย ที่ต้องใช้ข้าวสาลีคุณภาพดีมากๆ และไม่มีบริษัทลูกที่จะใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่วนเกิน ตามที่ได้ร้องเรียนเข้ามา ส่วนผู้ผลิตอาหารสัตว์รายอื่นๆ ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการกำหนดสัดส่วน 1:3 เช่นเดิม" นายสนธิรัตน์ กล่าว

ขณะเดียวกันยังมีมติให้ผู้ผลิตอาหารกุ้งได้รับการยกเว้น โดยไม่ต้องปฏิบัติมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลีของภาครัฐ และให้นำเข้าข้าวสาลีได้ 10% ของกำลังการผลิตอาหารกุ้งตามสูตรของกรมประมง หรือประมาณ 110,000 ตัน โดยกำหนดให้กรมประมงติดตามดูแลแผนการนำเข้า และแผนการผลิตอย่างใกล้ชิด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ