PTTGC จับมือ ททท.-ECOALF จัดการปัญหาขยะในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลในไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 29, 2017 18:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และมูลนิธิอีโคอัลฟ์ (ECOALF) ร่วมเปิดตัวโครงการ "UPCYCLING THE OCEANS, THAILAND" ซึ่งจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการจัดการปัญหาขยะในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทย รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งและหมู่เกาะที่เกี่ยวเนื่องในรูปแบบที่สร้างสรรค์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย ในฐานะจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม

           นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า การท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้ประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆของประเทศ อย่างไรก็ตาม แต่ด้านความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวจากการประเมินของ World Economic Forum (WEF) ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 35 สะท้อนให้เห็นความท้าทายด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว และในแหล่งท่องเที่ยวหลายๆ แห่ง ยังคงประสบปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยว และเผชิญปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะ               น้ำเสีย โดยขาดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ

ในการนี้ ททท., PTTGC และ ECOALF Foundation ต่างมีความมุ่งมั่นให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน และการให้คืนกลับแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม จึงได้กำหนดแผนดำเนินโครงการร่วมกันภายใต้โครงการดังกล่าวที่จะจัดขึ้นในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการขยะในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลในประเทศไทย รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งและหมู่เกาะที่เกี่ยวเนื่องอย่างสร้างสรรค์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งสร้างความตระหนัก แก่นักท่องเที่ยวและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการรักษาสิ่งแวดล้อมและตอบแทนสังคม เพื่อให้เกิดการจัดการแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลอย่างยั่งยืนต่อไป

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTGC กล่าวว่า PTTGC มีความมุ่งมั่นในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจควบคู่กับการดำเนินกิจกรรมเพื่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวทาง Sustainable Business ในการดำเนินโครงการ UPCYCLING THE OCEANS, THAILAND เพื่อลดปริมาณขยะในทะเลและลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล ซึ่งเป็นการต่อยอดจากโครงการสายใยซั้งเชือก PTTGC สร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำชายฝั่งทะเล ตลอดแนวชายฝั่งทะเลจังหวัดระยองที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการและที่สำคัญ

โครงการนี้มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกอย่างคุ้มค่าโดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ สอดคล้องกับนโยบายการบริหารจัดการความยั่งยืนของบริษัทฯ พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้ประกอบการประมงในพื้นที่ในการช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง PTTGC ในฐานะผู้นำด้านธุรกิจเคมีภัณฑ์จะเข้ามาร่วมรณรงค์การนำขยะขวดพลาสติกใสหรือขวด PET และขยะจากพลาสติกโพลิเอทิลีน (PE) ในทะเลและพื้นที่ชายฝั่ง มาใช้ซ้ำโดยการแปรรูปในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ด้วยนวัตกรรมการผลิตเป็นเส้นใยสังเคราะห์และพัฒนาและออกแบบเป็นเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่นที่มีมูลค่าที่สูงขึ้นตามแนวคิดเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกอย่างคุ้มค่าและช่วยประหยัดพลังงานและน้ำในการผลิตในอุตสาหกรรมช่วยลดมลพิษ ในทะเลและช่วยฟื้นฟูและดูแลแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์และสวยงาม

"โครงการนี้มีระยะเวลา 3 ปี ปีแรกเราจะคุยกับผู้ใช้เม็ดพลาสติกของเรา เราจะสามารถทำเป็นธุรกิจได้ แต่เรื่องนี้ต้องใข้เวลา ทั้งนี้ปีแรกๆจะร่วมกับททท. ลดขยะจากแม่น้ำลำคลองไหลลงสู่ทะเล" นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

นายฮาเวียร์ โกเยนิเช่ ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิอีโคอัลฟ์ กล่าวว่า มูลนิธิอีโคอัลฟ์ เป็นผู้ริเริ่มและดำเนินโครงการ UPCYCLING THE OCEANS ที่ประเทศสเปน ตั้งแต่ปี 2558 โดยร่วมกับสมาคมเรือประมงนำขยะพลาสติกจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าภายใต้แบรนด์ อีโคอัลฟ์ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค และได้ต่อยอดความสำเร็จสู่ประเทศอื่นที่มีปัญหาด้านขยะในทะเลเช่นเดียวกันสำหรับประเทศไทย นับเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีการดำเนินโครงการUPCYCLING THE OCEANS โดยมูลนิธิได้ร่วมมือกับ ททท. และ เป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ดำเนินการจัดเก็บขยะในทะเลไทยอย่างเป็นระบบ โดยตลอดกระบวนการการจัดเก็บ แปรรูป และพัฒนาเป็นเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่นจะดำเนินการในไทยรวมทั้งการสร้างความตระหนักของปัญหาและผลกระทบของขยะในทะเลซึ่งมีขยะพลาสติกในมหาสมุทรทั่วโลกถึง 269,000 ตันหรือ 2.25 ล้านล้านชิ้น

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการนั้น จะเน้นไปที่การให้ความรู้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่รวมถึงนักท่องเที่ยวทั่วไปที่สนใจร่วมเป็นอาสาสมัคร เกี่ยวกับการเก็บขยะจากท้องทะเลและพื้นที่ชายฝั่ง รวมถึงวิธีการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง เพื่อนำมาแปรรูปขยะพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยพื้นที่เป้าหมายในการจัดเก็บขยะในทะเลไทยของโครงการ UPCYCLING THE OCEANS, THAILAND ได้แก่ ฝั่งทะเลตะวันออก (เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง) ฝั่งทะเลอ่าวไทย (เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี) และ ฝั่งทะเลอันดามัน (จังหวัดภูเก็ต) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศ ซึ่งคาดหวังว่าโครงการ UPCYCLING THE OCEANS, THAILAND จะเป็นการขับเคลื่อนที่นำไปสู่การลดปริมาณขยะในทะเลไทยอย่างยั่งยืนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ