รมว.คลัง มองคำสั่ง"ทรัมป์"ลดขาดดุลการค้าสหรัฐพุ่งเป้าจีน เชื่อกระทบถึงไทยไม่มาก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 3, 2017 12:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยถึงกรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับใหม่สองฉบับ โดยมีเป้าหมายเพื่อยุติการขาดดุลการค้าว่า ประเทศที่จะได้รับผลกระทบหนักสุดจากกรณีนี้ คือ จีน ขณะที่ไทยน่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยหรือน้อยมาก เนื่องจากมีบางอุตสาหกรรมของจีนนำเข้าชิ้นส่วนจากไทยเพื่อผลิตสินค้าและส่งออกไปยังสหรัฐฯ เช่น ยางพาราที่นำไปผลิตยางรถยนต์ ซึ่งผลกระทบจะเป็นอย่างไรคงต้องรอผลการเจรจากับสหรัฐก่อน

อย่างไรก็ตาม ในระบบการค้าเสรีเป็นปกติที่บางประเทศจะเกินดุลฯ และบางประเทศจะขาดดุลฯ ซึ่งในส่วนของไทยเองเกินดุลการค้ากับสหรัฐไม่มาก แต่อีกมุมเราขาดดุลกับอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศหลักของอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคส์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ อยู่ที่ว่าโครงสร้างทางการค้าของแต่ละประเทศจะเป็นอย่างไร

"การค้าเสรีก็เป็นแบบนี้ มีเกินดุลบ้างก็มีขาดดุลบ้างอยู่แล้ว แต่เชื่อว่าสุดท้ายทั้ง 16 ประเทศในรายชื่อของสหรัฐฯ จะมีการหรือร่วมกันในลักษณะทวิภาคี มีการหารือกันเป็นคู่เพื่อให้ได้ข้อสรุป"นายอภิศักดิ์ กล่าว

อนึ่ง คำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐฉบับแรก กำหนดให้กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือ ยูเอสทีอาร์ ตรวจสอบ 16 ประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้า ซึ่งในกลุ่มนี้มีประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้าอยู่สูงสุด 6 ประเทศ คือ จีน, ญี่ปุ่น, เยอรมนี, เม็กซิโก, ไอร์แลนด์ และ เวียดนาม ส่วนอีก 10 ประเทศคือ อิตาลี, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, ไทย, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย และ แคนาดา

ส่วนคำสั่งฉบับที่ 2 เป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเพื่อการคุ้มครองพรมแดนและศุลกากร (ซีบีพี) ของสหรัฐประเมิน และดำเนินมาตรการลงโทษทางการเงินต่อสินค้าที่ส่งเข้ามาด้วยพฤติกรรมทางการค้าผิดปกติและไม่เป็นธรรม หรือเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพื่อตอบโต้การกระทำที่เข้าข่ายการทุ่มตลาด

ด้านนายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ภาคส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบหรือไม่นั้นยังตอบไม่ได้ คงต้องรอผลการเจรจาร่วมระหว่างไทยกับสหรัฐในวันนี้ว่าจะมีผลออกมาเป็นอย่างไร

ที่ผ่านมาการเจรจาการค้าไทย-สหรัฐมีมาเป็นระยะ แต่เพิ่งมาหยุดลงหลังมี FTA ดังนั้นเป้าหมายใยการเจรจาระหว่างไทย -สหรัฐครั้งนี้เพื่อหาข้อสรุป และสหรัฐเองคงจะตั้งเป้าที่จะเจรจากับประเทศที่ได้ดุล หวังว่าการเจรจาจะเป็นการหารือเพื่อหาข้อสรุป ไม่ใช่หารือเพื่อหาเรื่อง และหวังว่าคณะทำงานที่มาเจรจา USTR จะไม่ทำตามเจตนารมย์ของประธานาธิบดีสหรัฐ มากเกินไป

"ส่วนผลการหารือ ยังเดาไม่ออก แต่หวังว่าจะออกมาในทิศทางที่ดีขึ้น"นายณรงค์ชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ