คมนาคมเตรียมของบ 100 ลบ.ศึกษาปรับเส้นทางไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินรับ EEC

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 11, 2017 17:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ รับนโยบายจากมติคณะกรรมการนโยบายพัฒนาพื้นทีระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เสนอให้ปรับโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง มาเชื่อมต่อ 3 สนามบิน (สนามบินอู่ตะเภา-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินดอนเมือง) รวมทั้งให้เชื่อมรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ โดยของบจากบอร์ด EEC จำนวน 100 ล้านบาท เพื่อศึกษาการปรับปรุงครั้งนี้ คาดว่าจะให้เวลาสรรหาที่ปรึกษาโครงการ 1 เดือน และสรุปผลศึกษาได้ภายใน 2-3 เดือนนี้

"ถ้าปลายทางไปที่ระยอง ก็ให้เข้าสนามบินอู่ตะเภา จะต้องเพิ่มงบลงทุนเท่าไร และการเชื่อมมายังสนามบินสุวรรณภูมิ คาดว่าจะใช้แอร์พอร์ตลิงก์มาเชื่อมที่สถานีลาดกระบัง และจะวิ่งมาเชื่อมต่อสนามบินดอนเมืองได้อย่างไร ตรงนี้ต้องขอศึกษาก่อน โดยอาศัยผลศึกษาของเดิม ...คณะกรรมการ EEC ขีดเส้นต้องได้ตัวผู้รับเหมาสิ้นปีนี้" นายอาคม กล่าว

ทั้งนี้ บอร์ด EEC ต้องการให้ได้ตัวผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการนี้ภายในสิ้นปีนี้ และให้มี single operator หรือผู้เดินรถเพียงรายเดียวที่จะเดินรถไฟฟ้าความเร็วสูง และแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพราะต้องการให้เดินทางเชื่อมแบบไร้รอยต่อ (seamless connectivity) คือขบวนรถไฟฟ้าเดียวกันวิ่งเชื่อมต่อทั้ง 3 สนามบิน แต่การเชื่อมต่ออาจต้องพิจารณาเป็นลักษณะ connecting point เปลี่ยนขบวนวิ่ง ซึ่งอาจจะถูกกว่า

อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง จะมี 4 สถานีสำคัญที่ต้องผ่าน ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ สถานีลาดกระบัง สถานีมักกะสัน และพญาไท โดยสถานีกลางบางซื่อจะเป็นสถานีกลาง และมีการพัฒนาเชิงพาณิชย์แน่นอน ขณะที่สถานีมักกะสันและสถานีลาดกระบังมีโอกาสพัฒนาพื่นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี เพื่อกระจายความเจริญออกไป โดยใช้ประโยชน์จากรถไฟความเร็วสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ