นักวิชาการประเมิน GDP ศก.ไตรมาส2/60 จะเติบโตได้ในระดับ 3.7-3.8% จากภาคการลงทุนและการท่องเที่ยวหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday April 16, 2017 13:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ได้ประเมินตัวเลขจีดีพีเศรษฐกิจไตรมาสแรกปี พ.ศ. 2560 ว่าจะเติบโตได้ที่ระดับ 3.4-3.5% เนื่องจากภาคการบริโภคกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตมาสสี่ภาคการลงทุนฟื้นตัวชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะการเดินหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ภาคท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ส่วนภาคส่งออกได้ปรับตัวดีขึ้นเพียงเล็กน้อยในไตรมาสสองและประเทศต้องเตรียมพร้อมสำหรับมาตรการกีดกันการค้าจากสหรัฐอเมริกาในอีก 3 เดือนข้างหน้า ภาคการลงทุนและการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาสสองเติบโตได้ในระดับ 3.7-3.8%

ส่วนภาคการบริโภคกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสสองจากระดับหนี้สินครัวเรือนลดลง รายได้ครัวเรือนภาคเกษตรและภาคบริการท่องเที่ยวดีขึ้นโดยสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นทั้งราคาและปริมาณโดยเฉพาะยางพารา ข้าว เป็นต้น ภาคท่องเที่ยวยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องการจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ ในระยะสั้น ต้องทำให้ภาคบริโภคฟื้นตัวเต็มที่เนื่องจากภาคบริโภคของเอกชนคิดเป็น 51% ของการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ ภาคการลงทุนเอกชนคิดเป็น 19% ของการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ ส่วนการลงทุนภาครัฐคิดเป็น 6% ของการใช้จ่ายระบบเศรษฐกิจเท่านั้นเอง

ส่วนทิศทางตลาดการเงินในไตรมาสสองนั้นจะผันผวนมากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกจากความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งซีเรีย คาบสมุทรเกาหลีและอัฟริกานิสถาน เป็นต้น อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่ปรับสูงขึ้น อาจทำให้ภาคธุรกิจบางส่วนระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นมากขึ้นจนอาจเป็นความเสี่ยงได้หากไม่มีความสมดุลของอายุระหว่างสินทรัพย์และหนี้สิน ความสามารถในการชำระหนี้ของเอสเอ็มอีอาจด้อยลง ส่วนการผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E ในช่วงที่ผ่านมายังไม่กระทบต่อความสามารถในการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้และผลกระทบต่อระบบการเงินโดยรวมยังจำกัดมาก

อย่างไรก็ตาม ตั๋ว B/E ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออาจมีการความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ได้อีกในไตรมาสสอง ส่วนกฎหมายใหม่ เช่น พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ และ พ.ร.บ.ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันจะเป็นเครื่องมือในการทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยดีขึ้นในระยะปานกลางและระยะยาว รวมทั้งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ภาคส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องมาหลายปีได้เปลี่ยนทิศทางดีขึ้นในระยะต่อไป

ขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจการลงทุนอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ราคาน้ำมันในไตรมาสสองน่าจะอยู่ที่ 53-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันอาจปรับขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในช่วงกลางปีทะลุระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มสูงขึ้นแรงกดดันเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาสสองอย่างแน่นอน Preemtive Strike


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ