(เพิ่มเติม) คลัง หนุน คปภ.ขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยไทยรองรับเศรษฐกิจยุคดิจิทัล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 19, 2017 12:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "บริบทใหม่กับการขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยในเศรษฐกิจยุคดิจิทัล" โดยระบุว่า บริบทของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนไปจากเดิม ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของคนในสังคม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่เกิดขึ้น ประกอบกับนโยบายของภาครัฐซึ่งช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจประกันภัย เช่น การสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปฏิวัติรูปแบบการทำธุรกิจ หรือที่เรียกว่า "InsurTech" ทั้งในด้านของผลิตภัณฑ์ประกันภัย การให้บริการ การบริหารจัดการ รวมถึงสร้างช่องทางการเข้าถึงผู้เอาประกันภัยได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายที่จะต้องมีการกำกับดูแลระบบประกันภัยให้เป็นไปอย่างรอบคอบ

"สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และภาคธุรกิจประกันภัย ควรใช้ช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงบริบทของการแข่งขันนี้ ผลักดันให้ธุรกิจประกันภัยมีการขับเคลื่อนได้อย่างยั่งยืน และได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชน ตลอดจนสามารถเพิ่มบทบาทในระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพที่ดีของประชาชนผ่านระบบประกันภัย" รมช.คลัง กล่าวในการประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย ประจำปี 2560 (CEO Insurance Forum 2017)

ทั้งนี้ มองว่าตลาดประกันภัยของไทยยังมีโอกาสการเติบโตอีกมาก เนื่องจากปัจจุบันเบี้ยประกันภัยมีเพียง 5.4% ต่อ GDP เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนสูงกว่า 10% นอกจากนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว โดยปัจจุบันมีสัดส่วนผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี อยู่ที่ 15% และคาดว่าในอีก 8 ปีข้างหน้า จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งหากบริษัทประกันต่างสามารถออกผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคมผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อสูง และสร้างความไส้ใจให้แก่ผู้ต้องการได้ จะช่วยให้ตลาดประกันภัยเติบโตได้อีกมาก

"ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ในปัจจุบัน ทำให้คนมีอายุยืนขึ้น ซึ่งกลุ่มดังกล่าวมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง หากสามารถทำผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มนี้ และหากสามารถทำให้ปราศจากฉ้อฉล ให้ประชาชนมีความไว้วางใจได้ เชื่อว่าตลาดประกันภัยของประเทศไทยยังจะสามารถเติบโตได้อีกมากต่อจากนี้" นายวิสุทธิ์ กล่าว

รมช.คลัง ยังกล่าวถึงการเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชราว่า ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดตัวเลขที่แน่นอนว่าเป็นเท่าใด โดยกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้สำนักงานเศษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นผู้ดูแลเรื่องการให้สวัสดิการทั้งระบบ ซึ่งยังต้องรอสรุปตัวเลขที่ชัดเจนภายหลังจบการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบ 2 มาประกอบการพิจารณา ขณะเดียวกันกรมบัญชีกลางกำลังอยู่ในช่วงการพัฒนาระบบไอทีเพื่อมารองรับการจ่ายสวัสดิการทั้งของรัฐและประชาชนในอนาคต หากเสร็จสมบูรณ์จะนำไปหารือกับกระทรวงมหาดไทยถึงความเหมาะสมในการใช้งานต่อไป

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า การประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย ซึ่งมีการจัดประชุมครั้งแรกเมื่อปี 2559 โดยผลจากการประชุมครั้งนั้น ได้นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัย อาทิ การปรับปรุงกฎหมายแม่บทด้านการประกันภัย โดยครอบคลุมถึงการป้องกันการฉ้อฉลในธุรกิจประกันภัย การออกประกาศ คปภ. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการออกกรมธรรม์ประกันภัย การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย การชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต โดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2560 และประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการออกกรมธรรม์ประกันภัย การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย การชดใช้เงินและค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย โดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2560 และเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560

สำหรับการประชุมในวันนี้ เป็นการจัดประชุม CEO Insurance Forum ครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นการต่อยอดจากผลการประชุมครั้งแรก โดยนอกจากการแสดงปาฐกถาพิเศษของ รมช.คลังแล้ว ยังมีการบรรยายพิเศษเรื่อง "การกำกับธุรกิจประกันภัยในเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล" โดย น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ซึ่งพูดถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายใต้นโยบาย "Thailand 4.0" ความท้าทายของธุรกิจประกันภัย ตลอดจนทิศทางในการส่งเสริมธุรกิจประกันภัยเพื่อจะยกระดับมาตรฐานสู่สากล

นอกจากนี้อีก Highlight ที่สำคัญของการประชุมครั้งนี้ คือการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายระดมความคิดเห็นมาสู่ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ โดยแบ่งกลุ่มย่อยเป็น 4 กลุ่ม คือ

กลุ่มย่อยที่ 1 ภายใต้หัวข้อ "การพัฒนากฎหมาย การควบคุมและการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยในยุคดิจิทัล" มีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางและมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการฉ้อฉลประกันภัย ที่เหมาะสมภายใต้บริบทของกฎหมาย ประเด็นหลักในการประชุม ประกอบด้วย ข้อมูลรูปแบบหรือปัญหาเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เคยประสบหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ขอบเขตของร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย เกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย และประกาศ คปภ.ว่าด้วยการออกกรมธรรม์ประกันภัย การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย และการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และกลไกหรือมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการฉ้อฉลประกันภัย

กลุ่มย่อยที่ 2 ภายใต้หัวข้อ "การกำกับและพัฒนาธุรกิจประกันภัยด้วย Regulatory Sandbox" มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแผนในการกำกับและดำเนินธุรกิจในอนาคต รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับภาคธุรกิจ และบริษัท Fintech เกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมในต่างประเทศ โดยมีประเด็นหลักในการประชุม คือ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการ Insurance Regulatory Sandbox ของบริษัทประกันภัย และแนวทางการพัฒนานวัตกรรมของภาคอุตสาหกรรมประกันภัย อย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพ

กลุ่มย่อยที่ 3 ภายใต้หัวข้อ "การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการทำธุรกิจประกันภัย" มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสและมุมมองใหม่ๆ ให้กับผู้บริหารระดับสูง และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีที่ดี เพื่อให้บริษัทนำไปปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเด็นหลักในการประชุม คือ การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ และการกำหนดแนวทางการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในธุรกิจประกันภัยของสำนักงาน คปภ.

กลุ่มย่อยที่ 4 ภายใต้หัวข้อ "การยกระดับพฤติกรรมทางการตลาดและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์" มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนการยกระดับการกำกับพฤติกรรมทางตลาดและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ประเด็นหลักในการประชุม คือ แนวทางและบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาการกำกับและตรวจสอบคนกลางประกันภัย และการควบคุมคุณภาพการให้บริการ การพัฒนามาตรฐานระบบการจัดการสินไหม และการจัดการเรื่องร้องเรียนด้านการประกันภัย รวมทั้งการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัยแก่ประชาชน

นายสุทธิพล กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีมีผลกระทบต่อุตสาหกรรมประกันภัย เช่น ผลด้านบวกจะช่วยลดต้นทุน เข้าถึงลูกค้า และทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็จะมีผลกระทบด้านลบของบริษัทที่ไม่สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ได้ซึ่งก็เกิดจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ หรือเรื่องข้อมูลที่นำเข้ามาแล้วอาจไม่เป็นปัจจุบันหรือการถูกโจรกรรมข้อมูลอีกด้วย

นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายยังได้เปิดเวทีเสวนาเกี่ยวกับนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) และบทบาทหน้าที่ของกรรมการในธุรกิจประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง โดยผู้บริหารสำนักงาน คปภ. และนายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) บรรยายในหัวข้อเรื่อง "กรรมการมืออาชีพกับความสำเร็จของธุรกิจ" เพื่อให้กรรมการของบริษัทต้องมีการบริหารจัดการที่ดีมีธรรมาภิบาลในองค์กร และมีความรับผิดชอบที่พึงมีต่อผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมประกันภัยเติบโตอย่างยั่งยืน

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การประชุม CEO Insurance Forum 2017 ในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในธุรกิจประกันภัย ในการผนึกกำลังขับเคลื่อนนโยบายการประกันภัยสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งทุกความคิดเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะจะนำมาใช้แบบบูรณาการเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมประกันภัยของไทย มีการพัฒนาอย่างก้าวหน้า ทั้งนี้ กฎกติกาและการบริหารจัดการจะต้องคำนึงถึงหลักการสำคัญ ได้แก่ ความสมดุล ความยืดหยุ่น และการปรับตัวให้เหมาะสม รวมทั้งการทำงานในเชิงรุก เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อไปในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ