(เพิ่มเติม1) ผู้ว่า ธปท. เผยบาทแข็งค่าสอดคล้องภูมิภาคจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 19, 2017 17:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า จากการเข้าร่วมประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน พบว่ามีบางประเทศแสดงความเป็นห่วงเรื่องความผันผวนของค่าเงินในภูมิภาค ทั้งนี้มองว่าสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์การอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก ทำให้ทุกสกุลเงินในอาเซียนต่างปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้นการแข็งค่าของสกุลเงินในอาเซียนจึงเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกภูมิภาคเป็นหลัก ไม่ใช่จากปัจจัยภายในของแต่ละประเทศในอาเซียนเอง และในส่วนของไทยเองยังถือว่าโชคดีที่เงินบาทไม่ได้ผันผวนรุนแรงเมื่อเทียบกับหลายสกุล

สำหรับการปรับลดวงเงินในพันธบัตร ธปท.ระยะสั้นลงในช่วงเดือนที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาเงินทุนจากต่างชาติที่ไหลเข้ามาพักในระยะนั้นและมีการเก็งกำไรค่าเงินจนส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้น พบว่าการใช้มาตรการดังกล่าวถือว่าแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง เพราะทำให้เงินทุนที่เข้ามาไหลไปในส่วนของพันธบัตรระยะยาวมากขึ้นแทน ซึ่งหากเป็นในลักษณะนี้ ธปท.จะไม่มีความกังวลเท่ากับที่เงินทุนไหลเข้ามามากในช่วงสั้นๆ ซึ่งจะทำให้ค่าเงินมีความผันผวน

“ถ้าเข้ามาช่วงสั้นๆ มากๆ จนกระทบกับตลาดเงิน และอัตราแลกเปลี่ยน เราจะไม่ชอบ เพราะฉะนั้นเราได้เริ่มใช้มาตรการเพื่อลดช่องทางที่จะเอาเงินเข้ามาพัก เรายังมีอีกหลายมาตรการ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณไปยังนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศแล้วว่าเราไม่ welcome เราไม่ชอบนักที่จะมี flow เข้ามาพักในระยะสั้นๆ และคราวละมากๆ" ผู้ว่า ธปท.กล่าว

พร้อมระบุว่า ธปท.ยังพร้อมที่จะเข้าไปดูแลค่าเงิน โดยยังมีอีกหลายมาตรการที่เตรียมไว้ใช้ หากพบว่าเงินทุนจากต่างชาติที่ไหลเข้ามานั้นได้สร้างผลกระทบต่อตลาดเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนของไทย

“เรามีหลายเครื่องมือที่จะใช้ ถ้าเห็นว่ามีการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผิดปกติ เพราะการที่มีเงินเข้ามาพักไว้ช่วงสั้นๆ เป็นการสร้างแรงกดดันให้อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งการลดวงเงินประมูลพันธบัตรของธปท.ลง ก็เป็นหนึ่งในหลายๆ มาตรการที่เราทำได้ เมื่อใดที่จำเป็นและเห็นว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น เราก็พร้อมที่จะนำเครื่องมือออกมาใช้ แต่การใช้มาตรการเหล่านี้คงจะไม่สามารถบอกกันล่วงหน้าได้ จะใช้เมื่อใดถึงจะค่อยประกาศ"นายวิรไท กล่าว

พร้อมย้ำว่า การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ธปท.จะพิจารณาจากภาพรวมของประเทศ ซึ่งคงจะไม่สามารถทวนกระแสตลาดได้ เพราะเมื่อมีการปรับเปลี่ยนมุมมองเศรษฐกิจ การเงิน การเมืองโลกแล้วจะมีผลกระทบมาถึงเงินทุนเคลื่อนย้าย เนื่องจากไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว แต่เมื่อใดที่มีความผิดปกติรุนแรงที่มากระทบกับความสามารถในการทำหน้าที่ของตลาดหรือการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ธปท.ก็จะเข้าไปทำหน้าที่ดูแลในบางช่วงเวลา ทั้งนี้ ธปท.ยังขอให้ภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเชื่อว่าระยะข้างหน้าจะมีความผันผวนสูง

“ธปท.มองว่า บางช่วงเวลาเอกชนชะล่าใจและคิดว่ามีคนช่วยดูแลให้ ซึ่งเราไม่สบายใจ เพราะในระยะข้างหน้าความผันผวนจะสูง และมาจากปัจจัยภายนอก จึงไม่อยากให้เอกชนวางใจหรือชะล่าใจกับสถานการณ์" นายวิรไท กล่าว

ส่วนกรณีที่สหรัฐฯ จับตา 16 ประเทศที่มีการเกินดุลการค้าจากสหรัฐฯ ในจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วยนั้น ผู้ว่า ธปท. ยืนยันว่า ธปท.จะไม่มีการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคถือว่าเป็นการแข็งค่าในระดับกลางๆ ในขณะที่เงินเยนแข็งค่าไปค่อนข้างมากกว่า ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทนั้นมาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก โดยเฉพาะมาจากการปรับตัวอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี เงินบาทจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใดนั้นคงจะประเมินได้ยาก เนื่องจากไม่เฉพาะปัจจัยทางเศรษฐกิจที่จะต้องประเมินเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศเข้ามามีบทบาทสำคัญด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการเมืองของประเทศขนาดใหญ่ที่จะมีผลต่อประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ พร้อมมองว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยที่ควรต้องจับตาในขณะนี้ คือ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศในหลายประเทศที่มีความตึงเครียดอยู่ในขณะนี้ ทั้งสหรัฐอเมริกา และในคาบสมุทรเกาหลี รวมทั้งต้องติดตามการใช้นโยบายการค้าระหว่างประเทศของประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ด้วย

ผู้ว่า ธปท. มองว่า นโยบายเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลักบางครั้งได้สร้างแรงปะทะที่ไม่จำเป็นให้แก่ประเทศ emerging markets ดังนั้นถ้านโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เช่น สหรัฐที่เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนการลดปริมาณพันธบัตรในต่างประเทศที่สหรัฐถือครองอยู่นั้นถ้าเริ่มทำได้ก็จะส่งผลดีต่อสภาพคล่องในตลาดการเงินโลก

“หากสหรัฐฯ เริ่มดำเนินการก็จะมีผลต่อสภาพคล่องในตลาดการเงินโลก และถือเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะปัจจุบันมีสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลกมากเกินควร ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งขึ้น เงินทุนก็จะไหลไปในแต่ละประเทศต่างๆ และสร้างปัญหาให้แก่ประเทศขนาดเล็กที่เป็นเศรษฐกิจแบบเปิด" ผู้ว่า ธปท.ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ