แบงก์ออมสิน ประเมิน GDP ปีนี้โตได้ 3.5% หลังคาด Q1/60 โต 3.1%จับตาหนี้ครัวเรือน-นโยบายทรัมป์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 21, 2017 12:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานรากธนาคารออมสิน คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 60 จะขยายตัว 3.5% โดยปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ ประกอบด้วย การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐที่ยังคงขยายตัวจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมเป็นกำลังหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มฟื้นตัวตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการบรรลุข้อตกลงความร่วมมือลดกำลังการผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ประกอบกับภาคการส่งออกเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ได้แก่ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงมีผลทำให้อำนาจซื้อลดต่ำลง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินและการค้าระหว่างประเทศจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ การดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างกันของประเทศคู่ค้าจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ยังคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยยังคงอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบและคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อไป รวมทั้งผลกระทบจากกระบวนการ Hard Brexit ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนทั้งในและจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/60 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 3.1% โดยปัจจัยที่มีส่วนสนับสนุน ประกอบด้วย การบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงมีการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องทั้งจากครัวเรือนในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร ด้านการใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐที่จะเริ่มกลับมาใช้จ่ายอีกครั้งหลังจากชะลอการใช้จ่ายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 59 โดยจะมีเม็ดเงินจากแผนปฏิบัติการลงทุนด้านคมนาคมขนส่งที่เริ่มทยอยเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

สำหรับข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/60 ประกอบด้วย ความเสี่ยงจากการใช้นโยบายการเงินของประเทศคู่ค้าที่แตกต่างกัน ประกอบกับมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อีก 25 basis points (อยู่ที่ 0.75-1.00%) จากการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ในวันที่ 14-15 มี.ค.60 และมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มได้อีก 50 bps. ในช่วงที่เหลือของปี ส่งผลให้ตลาดการเงินเกิดความผันผวนจากแรงเทขายในตลาดพันธบัตรและตลาดทุนไปยังตลาดที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ