ปลัดท่องเที่ยว ร่วมหารือในที่ประชุม WTCC ใช้โอกาสแจงแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน-ภาพรวมศก.ไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 25, 2017 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเปิดเผยว่า ในวันที่ 26 เม.ย.นี้ จะเข้าร่วมหารือในการประชุม World Travel Tourism Council (WTTC) โดยจะหารือในเรื่องศักยภาพของภูมิภาคอาเซียนที่เป็นแหล่งการลงทุนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทยได้เร่งพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในหลายด้าน อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้อยู่ในมาตรฐานโลก รวมถึงโครงสร้างคมนาคมและความปลอดภัย เพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากข้อมูล WTTC ภูมิภาคอาเซียนเติบโตขึ้นอีกร้อยละ 6.5 ในอีก 10 ปีข้างหน้า สำหรับประเทศไทย ด้านการท่องเที่ยวมีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 20 ของ GDP มีการจ้างงานคิดเป็นร้อยละ 15 ของการจ้างงานทั้งหมดของประเทศ โดยมีการสร้างงาน 5.7 ล้านงาน

ด้านการยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว ประเทศในอาเซียนต่างเร่งยกระดับมาตรฐานเพื่อแข่งขันในระดับภูมิภาคโดยยึดตามเสาหลักสำคัญ ได้แก่ ความปลอดภัยและความมั่นคง การดำเนินนโยบายการท่องเที่ยวเป็นลำดับแรก และการแข่งขันด้านราคา ด้วยความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกที่มากขึ้นอาจทำให้การคมนาคมทางอากาศและพื้นดินที่มีอยู่เดิมนั้นท รุดโทรมลง เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมนั้นสร้างความแออัดในการเดินทาง รัฐบาลไทยได้มีแผนการลงทุนสร้างส่วนต่อขยายที่สนามบินในประเทศ เช่น สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ และอู่ตะเภา และดำเนินการยกระดับทางรถไฟ รวมถึงพัฒนาท่าเรือทะเลน้ำลึกเพื่อรองรับการล่องเรือระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังมีแผนที่จะสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษทางชายฝั่งตะวันออกของประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและยังมีแผนยกระดับท่าอากาศยานอู่ตะเภาและอาณาเขตโดยรอบเป็นศูนย์กลางการบินแห่งทวีปเอเชียจะมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อท่าอากาศยานนานาชาติทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา อีกทั้งยังขยายท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังต่อด้วย ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวจะหลอมรวมเอาการคมนาคมและการขนส่งเข้าด้วยกันจนกลายเป็นศูนย์กลางแห่งเอเชีย โดยการจะทำให้แผนนี้สำเร็จได้ รัฐบาลจะมีมาตรการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสม มีสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน การกู้ยืม และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนต่างๆ รองรับ

นายพงษ์ภาณุ ยังกล่าวถึงเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic) และภาพรวมด้านเศรษฐกิจในการหารือครั้งนี้ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ