ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยส่งออกไทยไป EU Q1/60 โตกว่าภาพรวม คาดทั้งปียังได้แรงหนุนจากสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 26, 2017 11:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตัวเลขการส่งออกของไทยไป EU ในไตรมาส 1/2560 เติบโตดีเกินคาดที่ 8.1%(YoY) (สูงกว่าการส่งออกในภาพรวมของไทยที่ขยายตัว 4.9% (YoY)) ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่ค่อนข้างต่ำในปีก่อน และผลจากราคาสินค้าช่วยผลักดันสินค้าบางรายการ ขณะที่การฟื้นตัวของอุปสงค์ในยุโรปได้หนุนนำความต้องการบริโภคสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มเติบโตเร่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อีกทั้งยังหนุนให้อุตสาหกรรมการเกษตรของไทยขยายตัวอย่างโดดเด่น อาทิ ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงรสอาหาร โดยสัญญาณเหล่านี้สะท้อนว่าตลาด EU พร้อมจะกลับมาเติบโตในช่วงที่เหลือของปี

ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกของไทยไป EU ปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3.0% หรือมีมูลค่าส่งออกไม่ต่ำกว่า 22,780 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งการปรับประมาณการยังต้องรอดูโมเมนตัมเศรษฐกิจโลก ประกอบกับประเด็นด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองใน EU อันจะมีผลต่อการส่งออกของไทยในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ความชัดเจนทางการเมืองในหลายประเทศสำคัญของ EU ทำให้บรรยากาศการส่งออกของไทยไปยัง EU ในปี 2560 มีภาพที่ดีตามมา โดยเฉพาะในตลาดที่มีประเด็นทางการเมืองทั้งสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี ซึ่งสินค้าศักยภาพของไทยที่ยังคงเติบโตและมีโอกาสเร่งตัวได้อีกตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นในตลาด EU ที่น่าจับตา คือ สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ขณะที่สินค้าส่งออกรายการหลักๆ ก็น่าจะได้อานิสงส์เติบโตตามการปรับตัวทางเศรษฐกิจ เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์และส่วนประกอบ, สินค้ายางพารา/ผลิตภัณฑ์ยาง, และอัญมณี/เครื่องประดับที่เติบโตต่อเนื่อง ซึ่งได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า

โดยหากมองเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสประเทศเดียว ฝรั่งเศสเป็นคู่ค้าอันดับ 26 ของไทย ซึ่งการส่งออกของไทยไปฝรั่งเศสมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยเพียง 0.7% ของการส่งออกของไทยไปตลาดโลก ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองของฝรั่งเศสจึงไม่มีผลต่อการค้าของไทยอย่างมีนัยสำคัญ ในกรณีที่ผลการเลือกตั้งของฝรั่งเศสเป็นไปตามที่ตลาดคาดหมายก็น่าจะเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจฝรั่งเศสในภาพรวม อันจะช่วยขับเคลื่อนสินค้าไทยที่พึ่งพาตลาดฝรั่งเศสปรับตัวดีขึ้นจากที่ไตรมาส 1/2560 การส่งออกของไทยไปฝรั่งเศสยังคงหดตัว 6.5% (YoY) โดยสินค้าที่น่าจะได้ประโยชน์ อาทิ เครื่องปรับอากาศ เลนซ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น แม้ว่าการส่งออกของไทยไปฝรั่งเศสจะไม่มากนัก แต่ฝรั่งเศสนับว่ามีเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญของสินค้ากลุ่มเครื่องจักรกล สบู่/ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันไทยขาดดุลการค้ากับฝรั่งเศสคิดเป็นมูลค่า 1,254 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2559

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามพัฒนาการระบบการเมืองในอิตาลีและสเปนที่ก็มีประเด็นการแยกตัวออกจาก EU คุกกรุ่นอยู่ และยังคงถูกกดดันจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงที่เหลือของปี แม้ว่าข้อผูกมัดของการใช้สกุลเงินยูโรร่วมกัน มีผลทำให้การแยกตัวจากกันระหว่าง EU กับสเปนหรืออิตาลีมีความซับซ้อนและต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน แต่หากเกิดการขอถอนตัวออกจาก EU ผลที่ตามมาจะกระทบลงลึกสู่โครงสร้างเศรษฐกิจในภาพรวมมากกว่าการแยกตัวของอังกฤษที่เป็นเพียงการตัดสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในภาพกว้างเท่านั้น

"การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองหลายประเทศในยุโรปในแต่ละช่วงเวลา สร้างความอ่อนไหวต่อตลาดเงิน ตลาดทุน ทำให้ค่าเงินยูโรผันผวนระยะสั้น ซึ่งในกรณีของฝรั่งเศส ยังต้องติดตามบทสรุปว่าใครจะได้รับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ถ้าผลที่ออกมาเบี่ยงเบนไปจากที่ตลาดคาดการณ์ คงส่งผลในทางตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาข้างต้น อีกทั้งขนาดผลกระทบคงเกี่ยวเนื่องในวงกว้างต่อเศรษฐกิจ EU ซึ่งต้องรอประเมินผลกระทบอีกครั้ง" เอกสารศูนย์วิจัยฯ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ