ม.หอการค้าไทย เผยหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงรอบ 8 ปีแต่ไม่น่าห่วงเหตุเป็นการซื้อสินค้าคงทน-หนี้นอกระบบลดลง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 27, 2017 16:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจ"สถานภาพแรงงานไทย ที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท" พบว่า มีมูลค่าในการใช้จ่ายในช่วงวันแรงงาน 2,115 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัว 3.0% เทียบกับปีที่แล้ว อยู่ที่ 2.7% การเก็บเงินออมในปัจจุบันของแรงงาน พบว่า มีการออม 37.4% (เฉลี่ย 870 บาทต่อเดือน) และไม่มีการออม 62.2%

ขณะที่แรงงานไทยกว่า 97% ยังมีภาระหนี้ และก่อหนี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยครัวเรือนละ 131,479 บาท เพิ่มขึ้น 10.43% จากปีก่อนที่มีการก่อหนี้ 119,061 บาท หรือเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 8 ปี

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนหนี้ที่สูงขึ้นนี้ไม่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นการก่อหนี้เพื่อซื้อทรัพย์สินคงทน อาทิ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมที่เป็นการกู้เพื่อใช้จ่ายทั่วไปเป็นหลัก

“ปัญหาหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาจากหนี้สะสมตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไม่ดีจึงต้องกู้ยืมเงินมาใช้จ่าย และอีกส่วนหนึ่งมีการใช้จ่ายมากกว่าหรือเท่ากับรายได้ เพราะมีรายได้เท่าเดิมแต่ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ทั้งจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น มีของที่ต้องการซื้อมากขึ้น ดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้มีหนี้สินเพิ่ม"นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจ พบว่า หนี้ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบและมีหนี้นอกระบบลดลง จากมาตรการของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการดึงหนี้นอกระบบกลับเข้ามาอยู่ในระบบ โดยเป็นหนี้ที่อยู่ในระบบ 46.4% จากปีก่อน 39.38% เป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปี ขณะที่หนี้นอกระบบมีสัดส่วน 53.6% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีสัดส่วน 60.62% ถือว่าลดลงสูงสุดในรอบ 4 ปีเช่นกัน

นอกจากนี้ แรงงานส่วนใหญ่เห็นว่าควรปรับค่าจ้าง 86.7% ใน 3 เดือนข้างหน้า ควรปรับขึ้นเป็น 410 บาท/วัน

สำหรับประเด็นที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือหรือดำเนินการ อาทิ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การควบคุมราคาสินค้า และช่วยเหลือค่าครองชีพ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ช่วยเหลือผู้ว่างงาน ดูแลสวัสดิการแรงงาน และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ