(เพิ่มเติม) "สมคิด"ขึ้นเวทีโรดโชว์ EEC นลท.ฮ่องกง-จีน หวังผลักดัน S- Curve พร้อมเชื่อมโยงเส้นทางสายไหม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 8, 2017 14:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไทยและเขตบริหารพิเศษฮ่องกง จัดสัมมนาการลงทุนไทย-ฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้ในวันนี้เพื่อหารือการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนักธุรกิจจากทั้งฝั่งไทยและฮ่องกงเข้าร่วมรับฟังนโยบายกว่า 300 ราย

กรอบเนื้อหาความร่วมมือหลักจะมุ่งไปที่การพัฒนาการใช้พื้นที่ เส้นทางคมนาคมและอุตสาหกรรมสาขาเป้าหมาย อาทิ การนำเสนอนโยบาย Thailand 4.0 และเชิญชวนภาคเอกชนให้มาลงทุนในไทย โดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซูเปอร์คลัสเตอร์ ระบบการขนส่งสาธารณะ ภายใต้โครงการพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงการผลักดันให้เกิดการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (ETO) ในไทย เป็นต้น

นายสมคิด กล่าวว่า หลังจากนี้หน่วยงานต่างๆ ของไทยจะเร่งผลักดันนโยบายการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมเกิดการขยายความร่วมมือกับเขตบริหารพิเศษดังกล่าวในบริบทและรูปแบบที่กว้างและหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยในส่วนของรัฐบาลได้เร่งสร้างความต่อเนื่องในการแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือ ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ฮ่องกงให้เป็นรูปธรรม พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยให้เกิดการร่วมมือในระดับต่างๆ ที่สูงขึ้นได้ต่อไป

บทบาทของฮ่องกงนั้นถือว่าเป็นคู่ค้าและคู่ลงทุนที่สำคัญของไทยมาโดยตลอด โดยในปีที่ผ่านมา ฮ่องกงมีการนำเข้าสินค้าจากไทยคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 4 แสนล้านบาท และในขณะนี้ยังถือเป็นเสมือนจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ทำให้การริเริ่มนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) หรือโครงการเส้นทางสายไหมเก่าของประเทศจีนประสบความสำเร็จได้

นายสมคิด กล่าวว่า ในอนาคตฮ่องกงจะมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้น และนักลงทุนทั่วประเทศกำลังจับตามองการประชุมเพื่อกำหนดนโยบาย One Belt one road ของจีนในช่วงเดือน พ.ค.นี้ อย่างมาก ซึ่งไทยจะส่ง 6 รัฐมนตรีเศรษฐกิจไปเข้าร่วมรับฟังข้อมูล เพราะนโยบายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลก ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่เผชิญกับความไม่แน่นอนสูงโดยเฉพาะการดำเนินนโยบายของสหรัฐ ดังนั้น ไทยพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายของจีน เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกัน

ในอนาคตต่อไปเส้นทางดังกล่าวกำลังจะขยายการเชื่อมโยงสู่ทางทะเล สามารถส่งผลต่อการส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการลงทุนระหว่างจีนกับประเทศในแถบภูมิภาคมหาสมุทร ไม่ว่าจะเป็นภูมิภาคอาเซียน โอเชียเนีย แอฟริกาเหนือ แปซิฟิก รวมถึงมหาสมุทรอินเดีย ทั้งยังมีแนวโน้มที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงถึงยุทธศาสตร์ด้านการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจีน ฮ่องกง และ เซี่ยงไฮ้ที่จะให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้นต่อไป

ทั้งนี้ในโอกาสดังกล่าวประเทศไทยจึงต้องเร่งใช้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของกลุ่มประเทศ CLMV ในการพัฒนาศักยภาพความร่วมมือระหว่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งหากสามารถพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรมก็จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงอาเซียนกับมณฑลตอนใต้ของจีน โดยมีไทยและฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยง ซึ่งจะเป็นข้อดีในการได้รับผลประโยน์ในรูปแบบ Win – Win ของทั้งสองประเทศในอนาคต

“ฮ่องกงคือตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนให้ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุนและการเชื่อมให้อนุภูมิภาคนี้เข้ากับนโยบาย One Belt one road ให้แนบแน่นขึ้นในอนาคต เปรียบได้กับฮ่องกงเป็นหัวของมังกรที่จะเชื่อม 11 เมืองในฮ่องกง เชื่อมกับจีนมายังอาเซียนได้ นับว่าฮ่องกงเป็นหัวหอกในการลงทุนในอาเซียน โดยมีไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมภูมิภาค คาดว่าปีนี้การลงทุนของฮ่องกงในไทยจะเพิ่มมากขึ้นจากปี 2559 และเฉพาะไตรมาสแรกปีนี้ การลงทุนของฮ่องกงขึ้นมาเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่นแล้วและเชื่อว่าปีนี้ตัวเลขการลงทุนของฮ่องกงที่มาไทยจะสูงขึ้นแน่นอน ปัจจุบันไทยมีการลงทุนโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีแผนจะขยายเส้นทางให้เชื่อมโยงกับจีนได้ในอนาคต ซึ่งจะพยายามผลักดันให้แล้วเสร็จโดยเร็ว จึงเชื่อว่าหากได้นักลงทุนฮ่องกงมาร่วมลงทุน โดยเฉพาะการพัฒนาเอสเอ็มอีด้วย จะยิ่งทำให้โครงการมีศักยภาพมากขึ้น โดยไทยได้มีแนวคิดให้สิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุนแต่ละประเทศที่เข้ามาลงทุนใน EEC นอกจากนี้ ยังต้องการให้ฮ่องกงตั้งสำนักงานด้านเศรษฐกิจ (Economic Trade Office : ETO)ในไทยด้วย เพื่อใช้ไทยเป็นศูนย์ในการประชุมและร่วมมือกำหนดยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะทำให้นักลงทุนฮ่องกงได้สิทธิประโยชน์จากประเทศในแถบ CLMV และ AEC ตามกรอบเอฟทีเอฮ่องกง-อาเซียน ในอนาคต" นายสมคิด กล่าว

ปัจจุบัน ฮ่องกงมีการตั้ง ETO อยู่ที่สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

สำหรับในการสัมมนาคณะผู้บริหารระดับสูงภาครัฐและเอกชนของเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้เยือนไทยในโครงการความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-ฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้ครั้งนี้ ยังได้ลงนามความเข้าใจระหว่างสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก กับองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) รวมถึงจะพานักลงทุนจากฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้กว่า 300 รายเข้าพบนายกรัฐมนตรีด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนร่วมกัน

ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตาสาหกรรม กล่าวว่า HKTDC เดินทางมาเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ เป็นการขยายผลต่อเนื่องในด้านการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt one road โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้มุ่งเน้นผลักดันให้ HKTDC และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เล็งเห็นการใช้ประโยชน์จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการร่วมทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจระเบียงตะวันออก (EEC) ของไทย ซึ่งเบื้องต้นอุตสาหกรรมที่ฮ่องกงมีความสนใจอยากจะเข้ามาลงทุนใน EEC คือ อุตสาหกรรมท่าอากาศยาน อุตสาหกรรมทางด้านท่าเรือ โครงการพื้นฐาน

ในอนาคตพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่พร้อมไปด้วยสาธารณูปโภค ระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การอำนวยความสะดวกในรูปแบบ One Stop Service เพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจให้มีความรวดเร็วและทันสมัยที่สุดในอาเซียน โดยพื้นที่ EEC ยังจะถูกพัฒนาให้เป็นมหานครแห่งอนาคตที่จะเป็นทั้งศูนย์กลางแห่งการจัดตั้งวิสาหกิจ การค้า การลงทุน การขนส่งของภูมิภาค แหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนยังจะเป็นประตูสู่เอเชียและเชื่อมโยงกับนโยบาย One Belt one road ของจีนได้เป็นอย่างดี

"เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้ ผู้ประกอบการและผู้ดำเนินธุรกิจของไทย จีน ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ หรืออื่นๆ ได้มีการเชื่อมโยงระหว่างกัน พร้อมก้าวสู่เวทีการค้าระดับสากลได้มากขึ้น"

รมว.อุตสาหกรรม ยังกล่าวต่อว่า นอกจากฮ่องกงแล้ว มีแผนจะดึงนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วย โดยในเดือนมิถุนายนนี้จะไปเจรจากับหน่วยงานรัฐของประเทศญี่ปุ่น โดยจะเอาสิ่งที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าอยู่ไปเสนอทั้งเรื่องของ EEC การพัฒนาเรื่องของ 4.0

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยมีแผนจะลงทุนรอบใหม่ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทั้ง Sea-Air-Land-Rail ซึ่งจะเป็นเปลี่ยนโครงสร้างการขนส่งของประเทศไทยครั้งสำคัญในระยะต่อไป เพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนการขนส่งของ CLMVT และอาเซียน และเป็นแผนการเชื่อมโยงกับเส้นทาง One Belt One Road เพราะไทยอยู่จุดศูนย์กลางของทั้งหมด และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญจะทำให้มูลค่าความน่าสนใจของ CLMVT ต่อโลกมากขึ้น

ทั้งนี้ สิ่งที่ไทยกำลังจะลงทุนใน 5 ปีข้างหน้า ทั้งยกระดับรถไฟให้เป็นรถไฟทางคู่ 2 พันกิโลเมตร รถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง คือ หนองคาย-คุนหมิง, กรุงเทพ-ระยอง กรุงเทพ-เชียงใหม่ และ กรุงเทพ-หัวหิน เพิ่มเส้นทางใหม่ๆ เชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน รถไฟฟ้าสารพัดสี เรื่องของการบินก็จะยกระดับไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ทั้งการขนส่งสินค้า การเดินทางท่องเที่ยว โดยงบประมาณที่จะใช้จะเป็นเรื่องของราง 69% ที่เหลือคือเรื่องของมอเตอร์เวย์ และทางอากาศ เงินที่ใช้จะมาจากเงินกู้ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจประมาณกว่า 60% เป็นโครงการ PPP กว่า 20% ที่เหลือจะเป็นงบประมาณของรัฐบาลและรายได้ของรัฐวิสาหกิจต่างๆ

แต่ในระยะยาว ข้อจำกัดในการลงทุนของรัฐบาลจะมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในอนาคตจะมีการปรับเปลี่ยนมาเป็นการลงทุนกับภาคเอกชนและลงทุนร่วมกันกับเอกชนที่เรียกว่า PPP แต่ในส่วนของ EEC นั้นรัฐบาลจะเร่งรัดการลงทุนแบบ Super Fast Track ให้ลดเหลือ 8-10 เดือน จากเดิม PPP Fast Track มีระยะเวลาเตรียมการลงทุนมากกว่า 20 เดือน และจะมีเรื่องของสิทธิประโยชน์ทางภาษีเข้ามาจูงใจด้วย

ส่วนน.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการ สำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า BOI จะให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายและ EEC รัฐบาลได้ปรับปรุงพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ โดยในเรื่องของสิทธิประโยยชน์ด้านภาษีได้สูงขึ้น โดยในส่วน 10 อุสาหกรรมเป้าหมายสามารถยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ถึง 8 ปี ส่วนอุตสาหกรรมต่อเนื่องหรืออุตสาหกรรมเกี่ยวข้องอาจจะได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคล 3-5 ปี, หากธุรกิจเหล่านั้นมีการพัฒนาเทคโนโลยีหรือใช้เทคโนโลยีขั้นสูงก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ถึง 13 ปี

ส่วนกลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญต่อประเทศ มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและมีผลกระทบในการพัฒนาประเทศขั้นสูง สามารถได้รับพิจารณาให้ได้รับการยกเว้นภาษีถึง 15 ปี (แต่ต้องพิจารณาและคัดเลือกเป็นรายโครงการ) แต่สำหรับกรณีพื้นที่เป้าหมาย เช่น EEC สามารถได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก 50% เป็นเวลา 5 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ