(เพิ่มเติม) ธ.ก.ส.ตั้งเป้าปีนี้สินเชื่อโต 7% เงินฝากโต 4% พร้อมคุม NPL ไม่ให้เกิน 4%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 9, 2017 11:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในปีบัญชี 2560 (1 เม.ย.60 - 31 มี.ค.61) ธ.ก.ส.ตั้งเป้าเติบโตด้านสินเชื่อ 7% ไม่รวมสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาล เงินฝากขยายตัว 4% และควบคุมอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ไม่เกิน 4% สำหรับผลการดำเนินการทางการเงิน ธ.ก.ส.จะรักษาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยมุ่งเป็นสถาบันการเงินที่เป็นศูนย์กลางของการบริหารจัดการการเงินของภาคเกษตรและชนบทไทย (Rural Universal Bank) ต่อไป

ส่วนผลการดำเนินงานของ ธ.ก.ส.ในปีบัญชี 2559 (1 เม.ย.59 - 31 มี.ค.60) พบว่า มีสินทรัพย์รวม 1.61 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.1 แสนล้านบาท หรือ 7.31% สินเชื่อรวม 1.27 ล้านล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 7.26 หมื่นล้านบาท หรือ 6.03% เงินฝาก 1.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.55 หมื่นล้านบาท มีส่วนของเจ้าของ 1.26 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.01% มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ไม่เกิน 4.03% และมีกำไรสุทธิ 9,496 ล้านบาท

นายอภิรมย์ กล่าวว่า ในปีบัญชี 2560 ธ.ก.ส. ได้สานต่อนโยบายเพื่อลบเส้นกั้นพรมแดนของการให้บริการทางการเงินระหว่างเมืองและภาคชนบท และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับเกษตรกรลูกค้า และพร้อมนำ ธ.ก.ส. ก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 6 โดยมุ่งมั่นเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการเป็นสถาบันการเงินเพื่อภาคการเกษตรที่มีความมั่นคงและยกระดับองค์กรเพื่อเป็น ธ.ก.ส. 4.0

โดย ธ.ก.ส. จะเน้นการดูแลลูกค้าเชิงรุก (Customer Centric) ได้จำแนกกลุ่มลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่มเพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพประกอบไปด้วย SMALL, SMART และ SMAEs

1.กลุ่มเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยและมีหนี้นอกระบบที่เกิดจากเหตุสุจริตจำเป็น (SMALL) ด้วยการช่วยเหลือสินเชื่อแก้ไขหนี้นอกระบบและสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อป้องกันหนี้นอกระบบ บรรเทาความเดือดร้อนในครัวเรือน รวมทั้งพัฒนาความรู้ทางการเงินและอาชีพที่เหมาะสม โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายการเงินชุมชนและคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ระดับจังหวัด พร้อมส่งเสริมวินัยในการออมเพื่อให้มีเงินใช้ยังชีพอย่างพอเพียงในช่วงสูงวัย

2.กลุ่มลูกค้าเกษตรกรทั่วไป (SMART) จะสนับสนุนทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ ทำการเกษตรทดแทนผู้สูงอายุ ปรับโครงสร้างการผลิตเชื่อมโยงกับหัวขบวน SMAEs ท่องเที่ยวชุมชน และยุทธศาสตร์จังหวัด ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุนการผลิต เกษตรอินทรีย์ รวมทั้งนำองค์ความรู้ นวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัยสู่ลูกค้าโดยดูแลและให้คำปรึกษาต่อเนื่อง เน้นการทำงานร่วมกับหัวหน้ากลุ่ม องค์กรชุมชนและเครือข่ายความร่วมมือประชารัฐ

3.กลุ่มผู้ประกอบการภาคการเกษตร (SMAEs) ค้นหาลูกค้า SMAEs ใหม่ที่มีศักยภาพ ส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเกษตรให้มีความเข้มแข็งเป็นหัวขบวน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการผลิตสินค้าเกษตร

นายอภิรมย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ธ.ก.ส. มีนโยบายขยายเครือข่ายทางการเงินเพื่ออำนวยความสะดวก ลดค่าใช้จ่าย และเวลาในการเข้าถึงบริการทางการเงินของลูกค้า โดยร่วมมือกับกองทุนหมู่บ้านและสถาบันการเงินชุมชนที่มีศักยภาพ ธ.ก.ส. จะสนับสนุนด้านการพัฒนาระบบงานและเทคโนโลยี รวมถึงบุคลากรของเครือข่ายให้สามารถเป็นศูนย์กลางให้บริการทางการเงินแก่สมาชิกในชุมชน โดยมีเป้าหมาย 900 แห่ง ขณะเดียวกันยังได้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการและการเข้าถึงบริการของธนาคารแก่ลูกค้าประชาชนทั่วไป เช่น Mobile Phone Banking, บัตรเดบิต, บัตรเงินสด และระบบสนับสนุนการจัดการทางการเงินสำหรับลูกค้าองค์กรและผู้ประกอบการ ควบคู่กับการให้ความรู้แก่เกษตรกรทั้งด้านการใช้และการป้องกันความเสี่ยงในการใช้งาน (Digital literacy) โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกค้าเป็นหลัก

ทั้งนี้ ในปีบัญชี 2559 ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนโครงการของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ผ่าน 9 มาตรการ 38 โครงการ มีเกษตรกรได้รับการช่วยเหลือแล้วเป็นเงิน 341,150.75 ล้านบาท ส่งเสริมผู้ประกอบการภาคการเกษตร (SMAEs) โดยสนับสนุนทั้งสินเชื่อแก่ SME เกษตร จำนวน 32,670 ราย เป็นเงินกว่า 48,508 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ ธ.ก.ส. ยังให้ความรู้ความเข้าใจทางการเงิน (Financial Literacy) ตามหลัก 3 รู้ คือ รู้ชีวิต รู้การออม และรู้ก่อนกู้ ส่งเสริมการออมผ่านเงินฝากสงเคราะห์ชีวิตและกองทุนการออมแห่งชาติ รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการป้องกันความเสี่ยงในโครงการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร ที่มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 1.52 ล้านราย พื้นที่ประกันภัย 27.18 ล้านไร่ ได้รับค่าสินไหมทดแทนทั้งสิ้น 639.69 ล้านบาท ส่วนเกษตรลูกค้าที่ไม่มีปัญหาการชำระหนี้ ธ.ก.ส. ได้จัดทำโครงการชำระดีมีคืน โดยเกษตรกรจะได้รับการคืนดอกเบี้ย 30% ของจำนวนดอกเบี้ยที่ชำระ ปัจจุบันคืนดอกเบี้ยให้แล้ว 850,000 ราย เป็นเงิน 2,020 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ