(เพิ่มเติม) หอการค้าไทย ตั้งเป้า 2 ปีเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ 5 หมื่นราย สร้างรายได้-ดัน GDP เพิ่มอีก 0.2%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 17, 2017 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ปี 2560 จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่สภาพแวดล้อมและสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับบทบาทของเทคโนโลยีและดิจิทัลที่ทวีความสำคัญ ได้ส่งผลต่อโลกธุรกิจทั้งการสร้างโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น อย่างธุรกิจ E-Commerce ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มความท้าทายให้ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการปรับตัว กับโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนไป การค้าจะเป็นแบบไร้พรมแดน (Borderless) โดยค้าขายบน Smart Trade Platform ในขณะที่การเกษตรจะเป็นเกษตรสมัยใหม่ มีการเพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรม ส่วนภาคบริการจะทวีความสำคัญมากขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ

ดังนั้น ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของหอการค้าไทย จึงต้องเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการตามแนวทาง Trade & Services 4.0 เพื่อให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและเน้นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สำหรับ 3 ห่วงโซ่ธุรกิจ (Value Chains) หลัก ได้แก่ 1.การค้าและลงทุน 2.เกษตรและอาหาร และ 3.ท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมูลค่าทางเศรษฐกิจจากจีดีพีเกินกว่าครึ่งของประเทศ โดยมีโครงการสำคัญที่หอการค้าไทยจะขับเคลื่อน อาทิ โครงการ "ไทยเท่ ใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์" โครงการ "1 หอการค้า ดูแลอย่างน้อย 1 สหกรณ์การเกษตร" และโครงการ "1 หอการค้า ดูแลอย่างน้อย 1 ท่องเที่ยวชุมชน" เป็นต้น

"กลุ่มธุรกิจที่หอการค้าฯ เน้นคือ การค้าการลงทุน การเกษตรและอาหาร การท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย โดยเราจะใช้แนวทาง Trade & Service 4.0 ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนด้วย Creative Economy + Cultural Economy + Digital Economy + Sufficiency Economy เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ ทั้งที่เป็นสมาชิกของเรา และ SMEs อื่นๆ ปรับตัวให้เข้าสู่สภาพการค้าใหม่ในปัจจุบันได้" นายกลินท์กล่าว

สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานของยุทธศาสตร์ในครั้งนี้ ประธานกรรมการหอการค้าไทยตั้งเป้าว่า ภายใน 2 ปี จะสามารถยกระดับความสามารถผู้ประกอบการตามแนว Trade & Services 4.0 ได้จำนวน 50% หรือราว 50,000 ราย ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด 100,000 รายทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายสร้างจีดีพีส่วนเพิ่มให้กับประเทศไทยได้ทั้งสิ้น 20,000 – 30,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น จีดีพีส่วนเพิ่มประมาณ 0.2%

พร้อมกันนี้นายกลินท์ แสดงความมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวในกรอบ 3.5-4% เพราะได้รับปัจจัยบวกจากภาคส่งออกที่เริ่มกลับมาดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการค้าโลกที่เริ่มมีเสถียรภาพ ประกอบกับภาคเอกชนคลายความกังวลจากนโยบายการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่แสดงท่าทีที่มีต่อไทยดีขึ้น หลังจากได้โทรศัพท์มาเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์อาชา นายกรัฐมนตรี ไปเยือนทำเนียบขาวโดยตรง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกภายในอย่างเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง และนโยบายลงทุนของภาครัฐ ที่มีออกมาทำให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่น

ในส่วนของผลงานการทำงานของรัฐบาลช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนให้เอกชนมีความเชื่อมั่น และเห็นภาพของแผนงานการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม โดยรัฐบาลชุดนี้ถือเป็นรัฐบาลชุดแรกที่จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับเอกชน คือคณะทำงานสานพลังประชารัฐ ทำให้การทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ และเอกชนในช่วงที่ผ่านมาใกล้ชิดกันมากขึ้น เกิดผลบวกในแง่ของแผนการลงทุนที่เอกชนจะจัดทำในอนาคตเพราะได้เข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนพัฒนาประเทศ ส่วนการแก้ปัญหาเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดทำธุรกิจของภาครัฐ ถือเป็นผลงานที่ชัดเจน ทำให้เอื้อต่อการลงทุน

ด้านนายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน รวมทั้งเสริมสร้างการมีส่วนร่วม ถือเป็นหัวใจสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กรธุรกิจภายใต้ยุค 4.0 ทั้งนี้ หอการค้าไทยได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง อาทิ การมอบรางวัลจรรยาบรรณดีเด่น การอบรมหลักสูตรนักธุรกิจรุ่นใหม่หัวใจพอเพียง และโครงการ 1 ไร่ 1 แสน เป็นต้น

นอกจากนี้ หอการค้าไทยยังคงบทบาทสำคัญในการสนับสนุนรัฐบาลด้านการพัฒนาประเทศ ตั้งแต่การร่วมจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงการขับเคลื่อนประเทศผ่านคณะสานพลังประชารัฐ โดยหอการค้าไทยเป็นหัวหน้าดูแล 5 คณะทำงาน ได้แก่ คณะการส่งเสริม SMEs และผลิตภาพ (D2) คณะการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE (D3) คณะการส่งเสริมธุรกิจการค้าและธุรกิจบริการ (D4) คณะการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ (D6) และคณะประชารัฐเพื่อสังคม (E6)

"ในส่วนของการสร้างความเชื่อมโยงและเสริมความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั้น หอการค้าไทยเน้นการทำงานร่วมกันตลอด Value Chain แบบลงลึกในแต่ละด้าน (Agenda Base) โดยเชื่อมโยงเครือข่ายกับสมาคมการค้าและหอการค้าต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่เฉพาะด้าน (Function Base) กับหอการค้าจังหวัด ซึ่งมีความเข้าใจในพื้นที่ (Area Base) รวมถึงเชื่อมโยงการทำงานกับมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ อีกด้วย" นายวิชัยกล่าว

ด้านนายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ 4.0 จะเน้นให้สมาชิกสามารถนำข้อมูล นวัตกรรม และมาตรฐาน ไปต่อยอดในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดจากความรู้และประสบการณ์ของเครือข่าย เพื่อยกระดับผู้ประกอบการทุกระดับ ซึ่งในปีนี้จะขับเคลื่อนสู่ภูมิภาคมากขึ้น โดยผ่านเครือข่าย YEC หรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการทั้งที่เป็นสมาชิกและมิใช่สมาชิก สามารถติดต่อขอคำแนะนำจากหอการค้าไทยได้ ผ่าน Thailand SME Center

ทั้งนี้ เพื่อให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวบรรลุเป้าหมาย หอการค้าไทยได้มีการปรับโครงสร้างและการบริหารงานใหม่ สำหรับขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างความเข้มแข็งเฉพาะด้าน อาทิ คณะกรรมการ E-Commerce คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Young Entrepreneur Chamber of Commerce: YEC) คณะกรรมการเศรษฐกิจและศูนย์ข้อมูล และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนา Digital Platform สำหรับเชื่อมโยงฐานข้อมูลสมาชิกในเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อยกระดับการตอบสนองความต้องการให้สมาชิกได้รับประโยชน์สูงสุด ภายใต้ระบบ Membership (MR)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ