NIDA แนะรัฐเร่งกระตุ้นศก.ผ่านโครงการ EEC สร้างบรรยากาศการลงทุน ดัน GDP ไทยปีนี้โตกว่า 3.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 18, 2017 11:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับนักบริหาร (MPPM Executive program) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แนะภาครัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงการเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อสร้างบรรยากาศกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาส 2 ต่อเนื่องถึงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะช่วยดันผลักดันให้ปีนี้มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไม่ต่ำกว่า 3.5%

"หากภาครัฐเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังและโครงการลงทุนต่างๆ ในเขต EEC ที่เน้นการจัดลำดับความสำคัญของโครงการอย่างเหมาะสม โดยเลือกโครงการที่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้มากที่สุด มาดำเนินการในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในลักษณะออกดำเนินการเป็นชุดโครงการ เพื่อหวังอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและส่งเสริมด้วยการขอความร่วมมือกับภาคการเงิน เพื่อใช้เป็นกลไกของนโยบายทางการเงินช่วยดึงดูดภาคเอกชนให้เกิดการลงทุนอย่างจริงจัง อันจะทำให้เกิดการจ้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตามมาเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้จริงจากการลงทุนและกำลังซื้อภายในประเทศ ส่งผลดีต่อผลเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะทำให้ GDP ของไทยปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 3.5%" นายมนตรี กล่าว

ทั้งนี้ จากภาพรวมบรรยากาศเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ที่เติบโตได้เป็นที่น่าพอใจเป็นผลมาจากการขยายตัวด้านการส่งออกในเดือนมีนาคมที่สูงถึง 9.22% ทำให้มูลค่าการส่งออกในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้เติบโต 4.92% โดยหากตัวเลขการส่งออกที่ขยายตัวด้วยระดับ 4% ได้ตลอดทั้งปี ตลอดจนภาคการบริโภค การลงทุนและภาครัฐร่วมกันขับเคลื่อนย่อมจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตได้ถึง 3.5%

อย่างไรก็ตาม การเติบโตด้านตัวเลขการส่งออกดังกล่าวเป็นผลมาจากแรงหนุนของราคาพืชผลทางเกษตร เช่น ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางที่ปรับตัวสูงขึ้น ราคาสินค้าในกลุ่มโภคภัณฑ์และราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องบางส่วน แต่ไม่ได้เกิดจากการเติบโตของอุปสงค์ภายนอกที่แท้จริง ดังนั้นหากต้องการให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามเป้าหมาย ภาคส่วนอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจจะต้องช่วยกันขับเคลื่อน โดยเฉพาะการลงทุนจากภาครัฐที่ต้องเป็นหัวหอกในการผลักดันนโยบายการลงทุนในโครงการต่างๆ ให้เห็นภาพชัดเจนและเป็นรูปธรรมในเชิงปฏิบัติให้เร็วที่สุด

นายมนตรี กล่าวว่า ภาครัฐควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดิน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมและโลจิสติกส์ ตลอดจนการลงทุนในโครงการ EEC อันจะเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ในระยะยาว โดยเฉพาะในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ อิเล็คทรอนิกส์ การแปรรูปอาหาร การท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้นและเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญของอาเซียน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ