นายกฯ ใช้คำสั่งม.44 เร่งขับเคลื่อนลงทุนใน EEC ปลดล็อดข้อจำกัดและร่นระยะเวลาขั้นตอนขอ EIA-ร่วมทุน PPP

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 23, 2017 16:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้มีการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เกี่ยวกับโครงการเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่างๆ ให้รวดเร็วขึ้น โดยให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเป็นผู้พิจารณาดำเนินการเลย จากเดิมที่จะมีขั้นตอนซับซ้อน ใช้เวลานาน บางครั้งต้องพาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาพิจารณาดด้วย โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการเพื่อพิจารณารายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเร่งด่วนภายใต้โครงการ EEC

นอกจากนี้ คณะกรรมสิ่งแวดล้อมยังมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ เพื่อที่จะสามารถพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากบริษัททั้งหลายพร้อมที่จะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่ขอให้รวดเร็วทันใจเท่านั้น จึงปลดล็อคตรงนี้ และให้ใช้เวลาในการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับรายงาน

รวมทั้งเรื่องการเร่งรัดกระบวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ในพื้นที่ EEC ให้สั้นลง วันนี้จึงให้คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษเป็นผู้อนุมัติภายใต้ขอบเขตมาตรฐานกฎหมายร่วมทุนไม่ให้มีมาตรฐานที่ต่ำกว่า ซึ่งจะสามารถลดเวลาดำเนินการตามขั้นตอน PPP ลงได้

สำหรับเรื่องการให้บริษัทต่างชาติที่ทำกิจการเกี่ยวเนื่องกับกิจการอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานของไทย ไม่ต้องยึดถือตามกฎหมายเดิม ทั้งนี้เพื่อต้องการให้การขับเคลื่อนเรื่องสำคัญของ EEC เป็นไปด้วยความรวดเร็ว แต่เรื่องอื่นๆจะต้องว่าไปตาม พ.ร.บ.อีอีซี ซึ่งขณะนี้กฤษฎีกาตรวจสอบเรียบร้อยแล้วและกำลังนำเข้าไปรับฟังความคิดความเห็นของประชาชนบนเว็บไซต์

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า ยังมีโครงการของรัฐบาลอีกหลายโครงการ ไม่ว่าโครงการเร่งรัดระบบคมนาคมขนส่ง การบริการสาธารณะ หรือกิจการที่เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งรัดดำเนินการแต่ติดขัดข้อกฎหมาย ติดขัดที่กระทรวงนั้นบ้าง กระทรวงนี้บ้าง ติดขัดหน่วยงานนี้บ้าง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งว่าต่อไปนี้ถือเป็นนโยบายว่าถ้าอะไรที่เป็นเรื่องสำคัญของรัฐที่ต้องการเร่งรัดให้เกิดผลโดยเร็วเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่การปฏิรูป ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ 4.0 ถ้าติดขัดในข้อกฎหมายตรงไหนจะต้องปลดล็อคให้ได้ เพราะฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องประสานการปฏิบัติกันอย่างใกล้ชิดและชัดเจน และทำข้อเสนอขึ้นมาว่าต้องการให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดล็อคในเรื่องอะไรบ้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ