(เพิ่มเติม1) กนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% มองแนวโน้มศก.ฟื้นชัดเจนขึ้นแต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 24, 2017 17:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง.วันนี้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี ตามที่ตลาด โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนจากการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตามเศรษฐกิจคู่ค้า ส่วนการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นตามรายได้ภาคการเกษตรและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีทิศทางดีขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยเหตุการณ์ระเบิดไม่ส่งผลกระทบต้องปรับประมาณการนักท่องเที่ยวลง และการลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

ในการตัดสินนโยบายคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนขึ้น แม้ว่าต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะจากด้านต่างประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลง และอาจต่ำกว่ากรอบเป้าหมายในบางช่วงจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก แต่มีทิศทางปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ด้านระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ สามารถรับมือความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ดี แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุด อาทิ ความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SME ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำมาเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงของตลาดที่ต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks)

ขณะที่มองไปข้างหน้า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น แม้ว่ายังต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากปัจจัยด้านต่างประเทศ ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องตามราคาอาหารสดและผักผลไม้ที่ลดลง และผลจากฐานสูงในปีก่อนจากปัญหาภัยแล้ง แต่มีแนวโน้มกลับมาทยอยสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

การลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ มีแนวโน้มชะลอตัวลง เป็นไปตามการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ลดลง แต่ยังไม่เห็นปัญหาฟองสบู่ แม้ว่าราคาอสังหาริมทรัพย์บางแห่ง โดยเฉพาะใกล้แนวรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น แต่เป็นไปตามความต้องการของตลาด ส่วนภาคธุรกิจที่ยังลงทุนต่อเนื่อง เช่น โทรคมนาคม ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ และไฟฟ้าที่ผลิตเพื่อส่งออก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศยังมีอยู่ โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีน และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และยังต้องติดตามความเสี่ยงบางจุด เช่น ความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SME ซึ่งพบว่ามีปัญหาในเชิงโครงสร้างและไม่สามารถแข่งขันได้ ทำให้คาดว่าแนวโน้มหนี้เสีย SME จะต้องใช้เวลาฟื้นตัวอีกระยะหนึ่ง จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มเป็นบวกได้ใน 2 ไตรมาส

ส่วนค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมายังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค

ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ