(เพิ่มเติม) ครม.อนุมัตินำโครงการทางด่วน 2 เส้นทางของกทพ.เข้ากองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ คาดยื่นไฟลิ่งก.ล.ต.ราว Q3/60

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 30, 2017 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า กระทรวงคมนาคมเสนอให้นำโครงการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 2 เส้นทาง เข้ามาระดมทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) หรือ TFF ได้แก่ โครงการทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) และโครงการทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) พร้อมกำหนดสัดส่วนการโอนขายรายได้ในอนาคตที่ 45% ของรายได้จาก 2 โครงการดังกล่าวเป็นระยะเวลา 30 ปี

สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุน จะนำมาใช้ในการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของกทพ. 2 โครงการ รวมวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 4.4 หมื่นล้านบาท ได้แก่ โครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก กรุงเทพฯด้านตะวันตก วงเงินลงทุน 3.04 หมื่นล้านบาท และ โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก วงเงินลงทุน 1.4 หมื่นล้านบาท

นายณัฐพร กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำในที่ประชุมครม.ว่า กองทุนดังกล่าวที่จะออกมานี้ ต้องให้ประชาชนมีสิทธิได้ซื้อกองทุนฯ ก่อน เพราะกองทุนฯ นี้มีผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินในปัจจุบัน และกำชับว่าอย่าให้ซ้ำรอยกับกรณีการแปรรูป ปตท.ในอดีต ที่คนที่เข้ามาซื้อหุ้นมีแต่ระดับผู้บริหาร

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า วันนี้คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) สำหรับโครงสร้างและรูปแบบ TFF นั้น ได้จัดตั้งภายใต้ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทน. 8/2559 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการ TFF และเป็นกองทุนปิดที่ไม่จำกัดอายุของกองทุน รวมทั้งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย TFF จะเสนอขายหน่วยลงทุนแก่นักลงทุนทั่วไป ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนตามผลการดำเนินการของโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทุนรวมฯ ลงทุน โดยไม่มีกลไกการรับประกันผลตอบแทน

ปัจจุบัน กระทรวงการคลังถือหน่วยลงทุน TFF วงเงิน 1,000 ล้านบาท และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน กระทรวงการคลังจะลงทุนในหน่วยลงทุนของ TFF เพิ่มเติมในวงเงินไม่เกิน 9,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ เพื่อจูงใจให้หน่วยงานภาครัฐนำโครงการโครงสร้างพื้นฐานมาระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการในการสร้างแรงจูงใจในการนำโครงการโครงสร้างพื้นฐานของ กทพ. มาระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ เช่น 1.การเห็นสมควรให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการคำนวณกำไรเพื่อการจัดสรรโบนัส เพื่อชดเชยในกรณีที่ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ โดยการนำรายการผลกระทบทางบัญชีที่เกิดจากการนำโครงการเข้าระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ มาบวกกลับในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อการจัดสรรโบนัส และ 2.ให้ กทพ. สามารถนำเงินสภาพคล่องส่วนเกินดังกล่าวซื้อหน่วยลงทุน A ของกองทุนรวมฯ และ/หรือสามารถบริหารสภาพคล่องได้ตามขอบเขตที่กำหนดไว้ในกฎหมายจัดตั้งของ กทพ. และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องได้

นายเอกนิติ กล่าวว่า การระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ เป็นแหล่งเงินทุนใหม่ที่ กทพ. สามารถลงทุนได้ทันที โดยไม่ต้องรอสะสมรายได้หรือรอการจัดสรรเงินกู้ในการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม และไม่เป็นหนี้สาธารณะของประเทศ นอกจากนี้ สามารถนำเงินทุนของภาครัฐทั้งเงินกู้และงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ไปใช้ในการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศได้มากขึ้น เช่น ด้านสาธารณสุข และด้านการศึกษา เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไปในอนาคต

"ทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศใน 5 ด้าน 1.เราสามารถลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ท่ามกลางการคลัง งบประมาณที่จำกัด ประเทศไทยเรารอไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะเติบโตสู้คนอื่นไม่ได้ 2.เป็นแหล่งเงินทุนใหม่ของประเทศในการระดมทุนของภาครัฐ จากเดิมที่ต้องวิ่งไปงบประมาณ ใช้เงินกู้ 3.จะใช้กลไกของ ก.ล.ต. ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นระบบธรรมาภิบาล มีกลไกการตรวจสอบ การระดมทุน การประเมินทั้งหลายเพื่อความโปร่งใส 4.จะทำให้ไม่เป็นภาระการคลังในอนาคต เพราะรัฐบาลไม่ได้กู้เงินและไม่ได้ค้ำประกัน เพราะมีรายได้ที่ชัดเจน นักลงทุนสามารถประเมินความเสี่ยงเองได้ และ 5.เป็นการพัฒนาการตลาดทุน ช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางเลือกในการลงทุน ซึ่งหลายประเทศได้ทำกัน เช่น เกาหลี, นิวซีแลนด์, อังกฤษ, อเมริกา, อินเดีย" นายเอกนิติกล่าว

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ไป ทางทีมของกองทุนฯ จะต้องไปเจรจากับ กทพ.เพื่อหาข้อตกลงเรื่องการแบ่งรายได้ (RTA) โดยจะจัดทำเป็นสัญญาระหว่างกันที่ผ่านอัยการสูงสุด หลังจากนั้นจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหน่วยลงทุน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการให้ทันภายในไตรมาส 3 ปีนี้

"ทั้งหมดนี้ เราตั้งใจว่าจะพยายามให้เสร็จในไตรมาส 3 จะเร็วหรือช้าขึ้นกับความร่วมมือทั้งหลาย ถ้าเป็นไปตามแผน ก็คงจะยื่น ก.ล.ต. และขายภายในไตรมาส 3 ส่วนดอกเบี้ยจะเป็นเท่าไรนั้น คงไม่สามารถตอบได้ เพราะขึ้นกับนักลงทุนจะประเมิน ตอนนี้กฎหมายใหม่ของ ก.ล.ต. ห้ามพูด ห้าม commit จะผิดกฎหมายอาญา" นายเอกนิติ กล่าว

อย่างไรก็ดี กทพ.ถือเป็นหน่วยงานนำร่องใน กองทุน TFF ซึ่งหากในอนาคตมีหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจก็สามารถดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ได้ โดยขณะนี้กระทรวงคมนาคมจะไปพิจารณาว่าหน่วยงานใดมีความเป็นไปได้ที่จะนำโครงการก่อสร้างเข้ามาอยู่ในกองทุน TFF เช่น มอเตอร์เวย์ สนามบิน หรืออาจจะเป็นโครงการในกระทรวงอื่นๆ เช่น กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพียงแต่ขอให้มีรายได้ในอนาคตที่ชัดเจน

"การที่มีสินทรัพย์หลายประเภทมาอยู่ในกอง นี่คือเสน่ห์ของไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ มั่นใจว่านักลงทุนจะให้ความสนใจกับเรื่องนี้มากกว่า เพราะการมีสินทรัพย์หลายประเภท รายได้ ผลตอบแทนจากหลายประเภทมาอยู่ในกองเดียวกัน จะทำให้เกิดการกระจายความเสี่ยง ซึ่งผู้ลงทุนจะได้ประโยชน์ในส่วนนี้ด้วย" นายเอกนิติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ