รมว.พาณิชย์ สั่งประสานรง.อาหารสัตว์เปิดรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร ด้านภาคเอกชนยันเปิดรับซื้อผลผลิตตามปกติ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 26, 2017 15:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีมีข่าวว่า กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CP) แหลมทอง และลีพัฒนา ได้หยุดรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น ตนเองได้สั่งการไปเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ให้พาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ที่มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ตั้งอยู่ทำการประสานโรงงานให้สลับกันปิด เพื่อให้มีโรงงานเปิดรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเป็นช่วงปลายฤดูการผลิต และผลผลิตมีจำนวนไม่มาก แต่จำเป็นต้องให้มีโรงงานรองรับ เพราะยังมีผลผลิตตกค้างอยู่บางส่วน

"เท่าที่ตรวจสอบซีพีได้หยุดรับซื้อในโรงงานบางแห่ง ทำให้โรงงานแหลมทองและลีพัฒนาหยุดซื้อด้วย โดยให้เหตุผลของการปรับปรุงเครื่องจักรตามแผน เพราะผลผลิตช่วงนี้มีน้อย ขณะที่เบทาโกรซึ่งเป็นรายใหญ่ยังรับซื้อปกติ แต่กระทรวงฯ เห็นว่า แม้จะเป็นช่วงปลายฤดู แต่ผลผลิตยังมีตกค้างอยู่ จำเป็นต้องเร่งให้โรงงานเปิดรับซื้อต่อเนื่อง โดยราคาล่าสุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 8.40-8.50 บาท" นางอภิรดี กล่าว

สำหรับโรงงานที่กระทรวงฯ ได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดประสานให้เปิดรับซื้อผลผลิตข้าวโพด ได้แก่ จังหวัดลำพูน พิษณุโลก ลพบุรี สระบุรี เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สงขลา กรุงเทพฯ สมุทรปราการ อยุธยา นครราชสีมา สมุทรสาคร ปทุมธานี ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม อุบลราชธานี

อย่างไรก็ตาม จากการประสานให้โรงงานอาหารสัตว์เปิดรับซื้อผลผลิตข้าวโพดจากเกษตรกร จะทำให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้ขายผลผลิต สามารถขายผลผลิตได้ ซึ่งกระทรวงฯ จะมีการติดตามและตรวจสอบอย่างใกล้ชิดต่อไป

ด้านนายไพศาล เครือวงศ์วานิช รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) หรือ บีเคพี ซึ่งเป็นบริษัทจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) กล่าวว่า ขณะนี้ บริษัทฯ ยังคงเปิดรับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ออกมาในช่วงนี้ ที่โรงงานอาหารสัตว์บางนา โรงงานอาหารสัตว์ SWT โรงงานอาหารสัตว์หนองแค โรงงานอาหารสัตว์บกท่าเรือ โรงงานอาหารสัตว์โคกตูม และโรงงานอาหารสัตว์ขอนแก่น และ ราคารับซื้อในปัจจุบันสูงกว่าราคาที่กำหนดของกระทรวงพาณิชย์ที่ 8 บาท/กิโลกรัม ณ ตลาดรับซื้อในกรุงเทพ เนื่องจากผลผลิตในตลาดมีปริมาณน้อย

"โรงงานอาหารสัตว์ซีพียังสามารถรองรับผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของพี่น้องเกษตรกรที่มีผลผลิตเก็บเกี่ยวในช่วงนี้ได้อย่างเพียงพอ” นายไพศาลกล่าว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในฤดูกาลปกติ ซึ่งเริ่มเพาะปลูกตั้งแต่เดือนเมษายนถึงมิถุนายนของทุกปี ซึ่งมีผลผลิตออกสู่ตลาดในเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน คิดเป็นร้อยละ 70 ของผลผลิตทั่วประเทศทั้งปี ส่วนผลผลิตอีกร้อยละ 30 เป็นการปลูกข้าวโพดหลังนาที่ปลูกในระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม ซึ่งผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ขณะนี้เดือนมิถุนายนแล้วถือเป็นช่วงปลายฤดูกาล ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อย ในบางพื้นที่ไม่มีผลผลิตเข้าสู่โรงงาน ดังนั้นบางโรงงานจึงใช้ช่วงเวลาที่ไม่มีผลผลิต ปรับปรุงและซ่อมบำรุงเครื่องจักรเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับผลผลิตข้าวโพดที่จะเก็บเกี่ยวในเดือนสิงหาคมถึงปลายปี ซึ่งเป็นการดำเนินงานปกติเป็นประจำทุกปี

ทั้งนี้ ทางซีพียังยืนยันนโยบายการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ว่ามาจากพื้นที่ปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งดำเนินโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” เพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างยั่งยืน

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่า บริษัทสมาชิกยังคงเปิดรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามปกติ แต่เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูกาล ทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวโพดจากเกษตรกรมีน้อย โรงงานอาหารสัตว์หลายแห่งจึงให้ราคาที่สูงกว่าราคากำหนดของกระทรวงพาณิชย์ที่ 8 บาท/กิโลกรัม ณ ตลาดรับซื้อในกรุงเทพ อาทิ ซีพีที่ให้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 8.65 บาท

ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้ตรวจสอบกับสมาชิกแล้ว พบว่า บริษัท แหลมทอง ก็ไม่ได้หยุดรับซื้อตามที่มีข่าว ส่วนกรณีของลีพัฒนามีการหยุดรับซื้อข้าวโพดเนื่องจากได้ให้ความร่วมมือกระทรวงพาณิชย์เร่งซื้อข้าวโพดตั้งแต่ต้นฤดูในเดือนกรกฎาคม 2559 จนข้าวโพดในไซโลเกินความต้องการใช้ในปัจจุบันและคาดว่าจะสามารถเปิดรับข้าวโพดใหม่ได้เมื่อข้าวโพดฤดูใหม่ออกสู่ตลาด

"ช่วงปลายฤดูกาลเป็นช่วงที่เกษตรกรขายผลผลิตข้าวโพดออกไปหมดแล้วและอยู่ระหว่างรอข้าวโพดฤดูกาลใหม่ที่จะเก็บเกี่ยวได้ในราวเดือนสิงหาคม ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่โรงงานบางแห่งจะทำการปิดซ่อมบำรุงเครื่องจักร ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทำเป็นประจำทุกปี แต่จะมีการประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ก่อนทุกครั้ง แต่ที่มีข่าวว่ายังคงมีปริมาณข้าวโพดคงค้างในขณะนี้นับล้านตันจึงไม่น่าเป็นไปได้ ยกเว้นกรณีที่มีการลักลอบนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านผ่านทาง อ.แม่สอด จ.ตาก อ.ท่าลี่ จ. เลย และ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว" นายพรศิลป์ กล่าว

ในกรอบของ AEC ข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านสามารถนำเข้ามาไทยได้อย่างเสรี (duty free /quota-free ) แต่เนื่องจากเป็นสินค้าอ่อนไหวทางการเมือง กระทรวงพาณิชย์จึงออกมาตรการการนำเข้าเพื่อป้องกันผลกระทบต่อข้าวโพดในประเทศ หนึ่งในนั้นคือการจัดทำระเบียบการนำเข้าข้าวโพดให้สามารถนำเข้ามาได้เป็นบางเดือนเท่านั้น

เนื่องจากราคาข้าวโพดนำเข้าที่ถูกกว่าข้าวโพดในประเทศมากจึงจูงใจให้มีการทยอยนำเข้าข้าวโพด รวมถึงลักลอบนำเข้าในช่วงที่ห้ามนำเข้าด้วย รวมแล้วประมาณ 1 ล้านตันในปีที่ผ่านมา เพื่อจุดประสงค์ในการเก็บสต๊อกไว้เก็งกำไรในช่วงปลายฤดู ซึ่งเป็นตัวเลขที่พ่อค้าพืชไร่ยอมรับว่ามีการลักลอบจริง ที่ผ่านมาสมาคมต่างร่วมมือกันตรวจสอบแหล่งที่มาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยจะรับซื้อเฉพาะจากแหล่งที่ปลูกถูกกฎหมายและเป็นพื้นที่ที่หน่วยงานราชการรับรองเท่านั้น ดังนั้นหากเป็นข้าวโพดผิดกฏหมาย โรงงานอาหารสัตว์ก็ไม่สามารถให้การสนับสนุนหรือรับซื้อได้

"การลักลอบนำเข้าเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของชาวไร่ตกต่ำ จึงอยากวอนภาครัฐเข้มงวดในประเด็นนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อเกษตรกรของไทย" นายพรศิลป์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ