สศก.คาดแนวโน้มราคา-ผลผลิตสินค้าเกษตรครึ่งปีหลังดีขึ้นจากศก.โลกฟื้น แต่ต้องจับตาค่าเงินใกล้ชิด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 26, 2017 18:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.จริยา สุทธิไชย เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงไตรมาสที่ 3 และครึ่งหลังของ ปี 60 ว่า สถานการณ์ผลผลิตสินค้าเกษตรน่าจะดีกว่าปี 58 และปี 59 ขณะที่ราคาคาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากภาพรวมเศรษฐกิจโลก แต่ทั้งนี้ต้องติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพราะหากค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ ก็คาดว่าการส่งออกยังเป็นไปด้วยดี, ส่วนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ถ้าเกินระดับ 50 ดอลลาร์/บาร์เรล ก็จะส่งผลดีต่อผลิตภัณฑ์ยางพารา ซึ่งขณะนี้ราคาน้ำมันดิบลดลงมาอยู่ที่ระกับ 40 กว่าดอลลาร์ จึงทำให้เห็นราคายางปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ ตลอดจนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF), ธนาคารโลก (World Bank) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ต่างคาดการณ์สอดคล้องกับที่หน่วยงานรัฐและกระทรวงต่างๆ คาดการณ์ไว้ว่าในครึ่งปีหลังจะเห็นการเติบโตไปในทางบวกมากกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกันก็ต้องจับตาความเสี่ยงเรื่องค่าเงินบาท นโยบายเศรษฐกิจของประเทศที่สำคัญของโลกและเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยสินค้าเกษตรที่ยังมีแนวโน้มราคาดี คือ ไม้ผล เช่น ผลไม้ภาคใต้ เช่น ทุเรียน มังคุด ลองกอง ผลไม้ภาคเหนือ เช่น ลำไย ไม้ยืนต้น เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน

โดยในส่วนของปาล์มน้ำมัน ปีนี้ สศก.คาดการณ์ผลผลิตทั้งปีที่ 11 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวแล้วในช่วงครึ่งปีแรก ยังเหลือที่จะออกในครึ่งปีหลัง (ก.ค.-ธ.ค.60) ประมาณ 5 ล้านตันเศษแต่ไม่ถึง 5.5 ล้านตัน ดังนั้นราคาปาล์มน้ำมันในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก แต่จะเท่ากับปี 58 ที่ราคาอยู่ที่ 4 บาทกว่าหรือไม่นั้นต้องรอดู ซึ่งถ้าเกษตรกรซื้อขายตามเปอร์เซนต์น้ำมันที่ 17% หรือสูงกว่าตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) รวมทั้งตัดปาล์มแก่ ใช้กลไกตลาดให้มากที่สุด และดูแลเรื่องการลักลอบการน้ำเข้าผิดช่องทาง มีการตรวจสต็อก สอดส่องปริมาณสต็อกก็จะช่วยให้ปาล์มน้ำมันราคาดีขึ้นได้ ซึ่งขณะนี้คณะทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย ได้ลงไปตรวจสต็อกปาล์มน้ำมันที่ภาคใต้ ซึ่งการตรวจสต็อกสินค้าเกษตรของไทยควรต้องตรวจสต็อกทุกเดือน เพื่อประเมินผลผลิตที่ออกมา และประเมินแนวโน้มราคา

สำหรับยางพารา ในช่วงครึ่งปีหลังคาดการณ์ราคาค่อนข้างยาก แต่ถ้าพิจารณาจากปัจจัยเดิม ทั้งสต็อกของ 3 ประเทศหลักคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทยลดลงอาจจะใช้บริโภคในประเทศของตัวเอง ส่วนหนึ่งเป็นการส่งออก ขณะที่ความต้องการใช้ยางยังมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งในอุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์ อุตสาหกรรมล้อยาง อุตสาหกรรมการแพทย์ แต่เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันลดลงจึงทำให้ราคายางสังเคราะห์ลดลง จึงมีการหันไปใช้ยางสังเคราะห์ทดแทนยางธรรมชาติมากขึ้น

"ยังแปลกใจว่าตอนนี้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันทะเลาะกัน ต้องหยุดผลิตน้ำมัน ราคาน้ำมันควรจะปรับขึ้น แต่กลายเป็นราคาน้ำมันกลับลดลง แสดงว่าต้องมีแหล่งน้ำมันอยู่ที่อื่นอีก หรือไม่ก็มีปัจจัยอื่น" เลขาธิการ สศก.ระบุ

ในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นเจ้าภาพในการเชิญสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ สมาคมการค้าอาหารสัตว์ สมาคมการค้าพืชไร่ ซึ่งมีทั้งบริษัทรายใหญ่และรายเล็กเป็นสมาชิกมาทำงานกับกรมส่งเสริมการเกษตรว่าจะขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ที่ถูกต้องและเป็นพื้นที่หลังนา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะทำให้ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพ เพราะความชี้นต่ำ ประมาณ 3-4 ล้านไร่ ซึ่งถ้าเป็นไปตามที่ได้หารือร่วมกันก็จะเห็นข้าวโพดแปลงใหญ่ และก็จะเห็นการทำ Business Matching ระหว่างบริษัทกับเกษตรกรในพื้นที่ โดยมีกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้ประสานงานให้

"อย่างไรก็ตาม การนำเข้าวัตถุดิบสำหรับอาหารสัตว์ก็ยังต้องมีอยู่ เพราะอาหารสัตว์แต่ละประเภทก็จะมีสูตรแตกต่างกัน เป็นเรื่องของสารอาหารที่สัตว์แต่ละชนิดจะต้องได้รับ อาหารไก่สูตรหนึ่ง อาหารหมูก็อีกสูตรหนึ่ง แต่ก็จะมีกรมปศุสัตว์กำกับดูแลอยู่ ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการรับซื้อข้าวโพดหน้าโรงงานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ 8 บาท/กก. สำหรับมาตรฐานความชื้นที่ 14.5% แต่ก็มีบางพื้นที่ที่ราคารับซื้อต่ำกว่า 8 บาท/กก. อยากให้ผู้ประกอบการรับซื้อที่ 8 บาท/กก.เท่ากันทั่วประเทศ แต่พ่อค้าคนกลางมองว่ามาตรฐานความชื้นแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน บางพื้นที่เป็นข้าวโพดที่มีมาตรฐานความชื้นต่ำ 25-30% ถ้าพ่อค้าคนกลางรับซื้อมาก็ต้องมาผ่านกระบวนการไล่ความชื้น ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้น หากเกษตรกรอยากขายได้ราคาที่ 8 บาท/กก.ก็ต้องทำให้ได้มาตรฐานความชื้น 14.5% ซึ่งก็เป็นเรื่องยากที่ทุกพื้นที่จะทำได้เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน" เลขาธิการ สศก.กล่าว

สำหรับข้าว คาดว่าครึ่งปีหลังราคาจะดีกว่าครึ่งปีแรก เพราะมีคำสั่งซื้อจากหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ แอฟริกา ทั้งนี้ ประมาณเดือนสิงหาคมจะมีการรวบรวมตัวเลขการปลูกข้าว เช่น การปลูกข้าวหอมมะลิ, ข้าวหอมปทุมว่าเป็นไปตามแผนหรือไม่ ซึ่งจากแผนที่ได้กำหนดไว้ คือ 27 ล้านไร่ แต่หากตัวเลขออกมา 27-29 ล้านไร่ก็ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่พอจะรับได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ