คจร.รับทราบแผนดำเนินโครงการรถไฟฟ้า-เร่งศึกษาระบบขนส่งสาธารณะในภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 29, 2017 16:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 2/2560 เพื่อติดตามผลและเร่งรัดการแก้ไขปัญหาจราจร ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลว่า คณะกรรมการฯ ได้รับทราบสถานะการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าตามแผนการพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ณ เดือนมิ.ย. 60 ว่า โครงการที่จะเตรียมเสนอ ครม. ในปี 2560 จำนวน 7 โครงการ ระยะทางรวม 103.2 กิโลเมตร ได้แก่

1) สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ /2) สายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 /3) สายสีเขียวเข้ม ช่วงสมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 7 กิโลเมตร /4) สายสีเขียวเข้ม ช่วงคูคต – ลำลูกกา /5) สายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน -ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย / 6) สีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต 7) สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา

โครงการที่อยู่ระหว่างประกวดราคา และจะเริ่มการสร้างแล้ว 3 โครงการ ระยะทางรวม 90.4 กิโลเมตร ได้แก่ 1) สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ลงนามในสัญญาแล้วเมื่อ 16 มิถุนายน 2560 /2) สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ลงนามในสัญญาแล้วเมื่อ 16 มิถุนายน 2560 /3) สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง อยู่ระหว่าง รฟท. ทบทวนจัดทำ TOR ราคากลาง

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 6 โครงการ ระยะทางรวม 119.5 กิโลเมตร ได้แก่ 1) สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง -บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ เปิดให้บริการปี พ.ศ. 2563 /2) สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เปิดให้บริการเดินรถ 1 สถานี ต่อจากสถานีแบริ่งไปยังสถานีสำโรง โดยโครงการทั้งหมดจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี พ.ศ. 2561 /3) สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต เปิดให้บริการปี พ.ศ. 2563 /4) สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เปิดให้บริการปี พ.ศ. 2563 /5) สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี รฟม. ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างงานโยธาโครงการแล้วเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2560 เปิดให้บริการปี พ.ศ. 2566 /6) สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เปิดให้บริการแล้วจำนวน 3 สถานี

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง กระทรวงคมนาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ได้เห็นชอบในหลักการให้ กทม.เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ และลงทุนส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และได้มอบหมายให้ กระทรวงคมนาคม กทม.และกระทรวงการคลัง หารือในรายละเอียดร่วมกันในการลงทุน และการโอนหนี้สินและทรัพย์สินต่อไป

ที่ประชุมได้รับทราบผลการศึกษา ออกแบบ และวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต (รถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดภูเก็ต) ซึ่ง สนข.ได้ดำเนินการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนพ.ค.60 โดยรูปแบบจะเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือTramway) มูลค่าโครงการในระยะแรกช่วงจากท่าอากาศยานภูเก็ตถึงห้าแยกฉลอง อยู่ที่ 30,154 ล้านบาท ระยะทางรวม 41.7 กิโลเมตร เป็นทางวิ่งระดับดิน ยกเว้นบริเวณท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต จะเป็นสถานียกระดับและมีทางลอดสำหรับ ระบบรถไฟฟ้า จำนวน 3 ทางลอด ตามแนวทางหลวงหมายเลข 402 มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ต และจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ทางเหนือของห้าแยกฉลอง (บนถนนเจ้าฟ้าตะวันออก ห่างจากห้าแยกฉลองประมาณ 200 เมตร)

ทั้งนี้ โครงการศึกษาออกแบบระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ได้ถูกบรรจุไว้ในโครงการตามมาตรการ PPP Fast Track ปี 2560 ของกระทรวงคมนาคม โดย รฟม. จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินโครงการแบบ PPP ต่อไป

ด้านความคืบหน้าการดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาค (จ.ขอนแก่น จ.เชียงใหม่ จ.นครราชสีมา และเมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา) ในส่วนจ.ขอนแก่น สนข. อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาจัดทำแผนแม่บทออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่น และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเส้นทางสายแนวเหนือ-ใต้ (สำราญ-ท่าพระ) ระยะทางประมาณ 2.8 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดในการพัฒนาเป็นโครงการนำร่อง โดยใช้ระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit, LRT)

จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการวิเคราะห์เปรียบเทียบ เพื่อคัดเลือกแนวเส้นทางในเขตเมืองระหว่างโครงข่ายทางเลือกแบบใช้ทางวิ่งบนดิน และใต้ดินร่วมกันกับแบบที่ใช้ทางวิ่งบนดินทั้งหมด จำนวน 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 36 กิโลเมตร จำนวนสถานี 35 สถานี การศึกษามีความคืบหน้า 90% จะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในเดือนส.ค. 60

จ. นครราชสีมา สนข. กำหนดแนวเส้นทางของระบบขนส่งสาธารณะไว้ 3 เส้นทาง โดยจะเร่งรัดการศึกษาให้แล้วเสร็จในเดือนส.ค.60

ในส่วน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) เป็นผู้ดำเนินการศึกษา โดยเส้นทาง ที่เหมาะสมคือสายคลองหวะ-สถานีรถตู้ เป็นรูปแบบระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Mono Rail) ระยะทาง 12.54 กม. มีสถานีทั้งหมด 12 สถานี มูลค่าการลงทุน 16,100 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับแก้รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามความเห็นของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และออกแบบรายละเอียดโครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร วงเงินลงทุนของโครงการ ประมาณ 6,220 ล้านบาท ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร แนวทางการลงทุนรูปแบบ PPP ซึ่งจะทำให้โครงข่ายถนน และทางพิเศษสามารถเชื่อมต่อกันได้เป็นระบบบรรเทาปัญหาการจราจรของพื้นที่เขตเมืองในกรุงเทพมหานคร เป็นการพัฒนาโครงข่ายถนนสายหลักในกรุงเทพมหานครให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นทางเลือกในการเดินทางโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการของการเชื่อมโครงข่ายดังกล่าวตามผลการศึกษาฯ และให้ คค. มอบหมายหน่วยงานเป็นเจ้าของโครงการฯ หรือดำเนินการโครงการฯ ต่อไป รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กทพ ทล. รฟท. พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ