พาณิชย์ เผยจีนเดินหน้าผลักดันเงินหยวนตามแนวเส้นทาง Belt and Road

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 29, 2017 16:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง กรณีที่ธนาคารกลางจีน (People's Bank of China: PBOC) มีเป้าหมายจะขยายการใช้เงินหยวนไปยังประเทศต่างๆ และพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับข้อริเริ่ม Belt and Road ด้วยการปรับปรุงระบบการดำเนินการให้เอื้อต่อการทำธุรกรรมทางการเงินกับต่างประเทศ รวมถึงการชำระราคาสินค้าและบริการด้วยเงินหยวน

ปัจจุบันนี้สกุลเงินหยวนเป็นที่ยอมรับเป็นอย่างมาก และมีทีท่าว่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่เงินหยวนถูกรวมเข้าไปในตะกร้าเงินสิทธิถอนเงินพิเศษของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรองระหว่างประเทศ ทั้งนี้ประชาชนในประเทศและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นต้องการที่จะใช้เงินหยวนในการค้าและลงทุน รวมถึงบางประเทศได้มีการจัดตั้งศูนย์กลางการบริการเงินหยวนนอกประเทศจีนแล้ว

นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนยังมุ่งเน้นการพัฒนาแนวทางสำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินกับต่างประเทศด้วยเงินหยวน และส่งเสริมให้เงินหยวนมีบทบาทสำคัญทั้งในด้านการชำระราคาสินค้าและบริการ การลงทุน การจัดหาเงินทุน และการค้าต่อไปด้วย ซึ่งการส่งเสริมการใช้เงินหยวนให้ได้รับการยอมรับ ในระดับสากลจะเป็นการดำเนินการในระยะกลางถึงระยะยาว โดยมีแรงสนับสนุนที่สำคัญ คือ เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของจีน รวมทั้งคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของจีนก็จะสนับสนุนให้ประเทศตามแนวเส้นทาง Belt and Road ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมออก Panda Bond หรือตราสารหนี้สกุลเงินหยวนในประเทศจีนที่ออกโดยต่างชาติ และขยายความร่วมมือด้านการเปิดตลาดทุนทวิภาคีอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัท Rusal ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอะลูมิเนียมสัญชาติรัสเซีย ได้เป็นบริษัทแรกของรัสเซียที่ออก Panda Bond เป็นมูลค่า 1,000 ล้านหยวน (146.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งเสริมการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ความร่วมมือ Belt and Road ยังเป็นการช่วยเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการเพิ่มขีดความสามารถทางอุตสาหกรรมและด้านการผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ โดยโครงการก่อสร้างนี้ต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการส่งเสริมนี้ยังเป็นการช่วยสร้างโอกาสสำหรับการลงทุนในต่างประเทศด้วย และ China Investment Corp (CIC) ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของจีนจะใช้โอกาสนี้ในการขยายฐานข้อตกลงของโครงการต่างๆ โดยอาศัยกลไกตลาดเป็นสำคัญควบคู่ไปกับการรักษาความยั่งยืน

สำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินด้วยสกุลเงินท้องถิ่นระหว่างไทย-จีน มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง หลังการตั้งธนาคาร ICBC เป็น Clearing Bank การทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินหยวนในไทยตั้งแต่เดือน ม.ค.58 จีนได้ให้โควตาไทยในการเข้าไปลงทุนในสกุลเงินหยวนในจีนกว่า 50,000 ล้านหยวน และจะพิจารณาให้มีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน (หยวน-บาท) ได้โดยตรง (Direct Quotation) เพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้วในมณฑลยูนนานให้ครอบคลุมทั้งประเทศ (nationwide)

นอกจากนี้สองฝ่ายจะขยายความร่วมมือด้านการเงินให้ครอบคลุมบริการทางการเงินและการทำธุรกรรมรูปแบบใหม่ รวมถึง E-Payment ด้วย ซึ่งความร่วมมือด้านการเงินระหว่างธนาคารกลางทั้งสองประเทศในด้านต่างๆ ที่กล่าวมานั้นจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-จีนได้อย่างมีนัยสำคัญ

ภาพรวมการค้าไทย-จีนในปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยจีนเป็นตลาดส่งออกและนำเข้าอันดับ 1 ขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 15 ของจีน โดยเป็นตลาดส่งออกและนำเข้าลำดับที่ 15 ของจีน ในปี 2560 (ม.ค.-พ.ค.) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 28.84 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 ที่มีมูลค่า 25.37 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 13.66 สำหรับสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ และผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น นอกจากนั้นจีนยังเป็นนักลงทุนทางตรงอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น และมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยกว่า 8 ล้านคน ในปี 2559


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ