กลุ่มผู้เลี้ยงสุกร-ไก่ยื่นหนังสือถึงรมว.พาณิชย์ ค้านนำเข้าหมู-ไก่จากสหรัฐฯหวั่นกระทบความปลอดภัยอาหาร

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 13, 2017 12:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ พร้อมด้วยนายประเสริฐ อนุชิราชีวะ เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย และ น.สพ.ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์ นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ รมว.พาณิชย์ ผ่านนายณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อคัดค้านการนำเข้าเนื้อสุกรและเนื้อไก่ของสหรัฐอเมริกา จากความกังวลด้านความปลอดภัยในอาหารของผู้บริโภค เนื่องจากสหรัฐฯ ใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมู ขณะเดียวกันยังพบการระบาดของไข้หวัดนก

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากประเด็นการเร่งรัดแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกาโดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สร้างแรงกดดันทางการค้าต่อสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ที่พยายามให้ไทยรับสินค้าเนื้อสุกรจากสหรัฐ ซึ่งมีการใช้สารเร่งเนื้อแดง (แร็คโตปามีน) อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ สารดังกล่าวเป็นสารต้องห้ามตามบัญญัติและกำหนดบทลงโทษในกฎหมายไทยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงสาธารณสุข

อุตสาหกรรมสุกรไทยมีการพัฒนาด้านสุขอนามัยตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่สายพันธุ์ การปรับปรุงคุณภาพอาหารสัตว์ การเพิ่มจำนวนของมาตรฐานฟาร์ม จนถึงธุรกิจอาหารจากผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบายอาหารปลอดภัย และมาตรฐานสินค้าเกษตรที่พัฒนาสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในทุกๆ รัฐบาล ทั้งยังสามารถผลิตสุกรได้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องนำเข้าเนื้อหมูจากประเทศใดๆ เข้ามาอีก

"การเลี้ยงสุกรของเกษตรกรไทย เป็นห่วงโซ่ที่สำคัญกับภาคเกษตรพืชไร่ ที่เป็นพืชอาหารสัตว์ทั้งข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ซึ่งมีประชากรไทยที่เกี่ยวข้องในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมจำนวนมหาศาล การนำเข้าสุกรจากสหรัฐจึงไม่ต่างกับการทำลายเกษตรกรไทยทั้งภาคพืชไร่และภาคปศุสัตว์ ขณะเดียวกันการเลี้ยงสุกรของไทยยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับสหรัฐอเมริกาอย่างมากในแต่ละปี จากการนำเข้าผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง ข้าวสาลี และเวชภัณฑ์ด้านปศุสัตว์" นายสุรชัยกล่าว

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวอีกว่า การค้าเนื้อสุกรระหว่างประเทศของเกษตรกรไทย ยังคงมีข้อจำกัดจากองค์การระหว่างประเทศที่เป็นอุปสรรคมายาวนานเช่นกัน ทำให้เกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาราคาที่ถูกตีกรอบในการทำตลาด ซึ่งปัจจุบันภาคเอกชนและภาครัฐกำลังใช้ความพยายามอย่างยิ่งเพื่อสร้างมาตรฐานต่างๆ ให้ผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรไทยเป็นที่ยอมรับต่อตลาดเอเชียและนานาชาติ ตลอดจนสร้างโอกาสทางการค้าและรองรับความสามารถในการผลิตสุกรของไทย ซึ่งปัจจุบันไทยสามารถสร้างผลผลิตสุกรในปริมาณที่สูงกว่าความต้องการบริโภคภายในประเทศอยู่แล้ว

"ประเทศไทยไม่ใช่เป้าหมายตลาดเนื้อสุกรของสหรัฐอเมริกา การใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสุกรในสหรัฐยังขัดกับกฎหมายไทย ซึ่งกรมปศุสัตว์มีมาตรการเข้มงวดในการตรวจจับผู้ลักลอบใช้ และลงโทษตามกฎหมายอย่างจริงจัง และยังมีอีกหลายประเทศห้ามการใช้สารเร่งเนื้อแดงในปศุสัตว์เช่นกัน อาทิ สหภาพยุโรป รัสเซีย และจีน ดังนั้นสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จึงขอให้รัฐบาลไทยยืนยันการห้ามนำเข้าเนื้อสุกรที่มีสารเร่งเนื้อแดงอย่างเด็ดขาด และปกป้องรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทางการเกษตรที่เป็นรากฐานและเสาหลักของประเทศ" นายสุรชัยกล่าว

ด้านนายประเสริฐ อนุชิราชีวะ เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยมีการพัฒนาการและเติบโตอย่างต่อเนื่อง กระทั่งสามารถผลิตเนื้อไก่ที่มีคุณภาพสูง กลายเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์อันดับ 4 ของโลก นำเงินตราเข้ามาพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่ละปีสามารถส่งออกเนื้อไก่ได้มากกว่า 30% ของปริมาณที่ผลิตได้ โดยมีตลาดที่สำคัญคือ สหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น ที่สำคัญประเทศไทย ยังสามารถป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดนกได้อย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ปี 2549 และยังคงสถานะประเทศปลอดโรคไข้หวัดนกตามรายงานขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) จนถึงปัจจุบัน ขณะที่หลายประเทศ รวมทั้ง สหรัฐฯ ยังคงตรวจพบการแพร่ระบาดของเชื้ออยู่

"การที่สหรัฐกดดันให้ไทยนำเข้าเนื้อไก่นั้น เป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการปนเปื้อนเชื้อไข้หวัดนกมายังไทย เท่ากับเป็นการนำเชื้อโรคเข้ามาทำลายอุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยที่ยังคงสถานะปลอดไข้หวัดนกมากว่า 10 ปี ดังนั้น จึงขอวิงวอนให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วน อย่าปล่อยให้สหรัฐมีอิทธิพลเหนือความปลอดภัยทางอาหารของคนไทย และอย่าปล่อยให้ไก่อเมริกาเข้ามาทำร้ายเกษตรกรไทย" นายประเสริฐกล่าว

ทั้งนี้ หากมีการเปิดตลาดนำเข้าไก่จากสหรัฐฯ จะเป็นการทำลายเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ของไทย เนื่องจากสหรัฐฯเป็นผู้ผลิตเนื้อไก่อันดับ 1 ของโลก และมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด กากถั่วเหลืองที่ซื้อหาในประเทศได้ในราคาถูก ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงไก่ของสหรัฐต่ำมากสามารถเข้ามาดั๊มพ์ตลาดในประเทศไทย ส่งผลให้เกษตรกรเดือดร้อนจากราคาขายเนื้อไก่ที่จะตกต่ำลง ประสบปัญหาขาดทุน ล้มละลายและเลิกอาชีพเลี้ยงไก่ในที่สุด ซึ่งจะต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดและพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ต่างๆ จากความต้องการใช้ที่ลดลง ตลอดจนกระทบถึงการจ้างแรงงานในโรงงานชำแหละไก่

ขณะเดียวกัน ยังส่งผลถึงการทำลายอุตสาหกรรมการส่งออกไก่ของไทยด้วย เนื่องจากกระทบความเชื่อมั่นในไก่จากประเทศไทยของประเทศผู้นำเข้า เช่น อียูที่นำเข้าไก่ไทยอย่างต่อเนื่อง และอียูยังคงห้ามนำเข้าไก่สหรัฐฯ ดังนั้นหากไทยให้เปิดตลาดให้เนื้อไก่สหรัฐฯ อียูอาจไม่เชื่อมั่นในเนื้อไก่ไทยและเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจเนื้อไก่สดและปรุงสุกของไทยมากขึ้น เพื่อตรวจสอบว่าเนื้อไก่ที่ส่งมาเป็นไก่ที่เลี้ยงในประเทศไทยหรือเป็นสินค้าไก่สหรัฐฯที่มาสวมสิทธิโควต้าส่งออก ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นระงับการนำเข้าไก่จากประเทศไทยได้ในที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ