ครม.เห็นชอบ 6 ยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคนสนับสนุน EEC ในวงเงินงบประมาณ 619.40 ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 18, 2017 15:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนเพื่อสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) วงเงิน 619.40 ล้านบาท เพื่อให้สอดรับกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ขณะเดียวกันจะช่วยเอื้อให้ EEC ก้าวขึ้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชั้นนำของอาเซียนและเอเซีย ตลอดจนส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต

"เรื่องนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะว่าสิ่งที่รัฐบาลพูดไปในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก การยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อย่าง ถ้าเราไม่มีคนที่เหมาะสม ความตั้งใจเหล่านั้นจะเป็นเพียงแค่ความฝัน ไม่สามารถบรรลุผลได้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมเมดิคัลฮับ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และแขนกล รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆที่เรากำลังทำ จะต้องมีกำลังคนในอุตสาหกรรมเหล่านั้น"
ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนโยบายและกลุ่มสนับสนุนการพัฒนาการค้าการลงทุนของประเทศ เช่น สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงาน EEC สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกลุ่มผู้ใช้กำลังคน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กระทรวงแรงงาน สำนักงานการอุดมศึกษา ฯลฯ มาหารือร่วมกันเพื่อกำหนดเป็นยุทธศาสตร์เสนอ ครม.ในวันนี้

สำหรับการดำเนินการนั้นจะแบ่งเป็นแผนงานระยะสั้น 3-6 เดือน ระยะปานกลาง 1-2 ปี ระยะยาว 3-5 ปี และประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการอาชีวศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ ให้ผู้ที่เรียนอาชีวศึกษามีความรู้ มีทักษะ มีความรู้เรื่องภาษา สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของ EEC ได้

ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ การผลิตและพัฒนากำลังคนระดับอาชีวศึกษาและการวิจัยนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อจัดปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับ Super Cluster/Cluster New Engine of Growth เน้นหลักสูตรเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรม, ยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน นำนวัตกรรมการสอนใหม่ๆมาปรับใช้ เน้นการเรียนรู้จากการปฎิบัติ เชื่อมโยงองค์ความรู้ และใช้มาตรฐานอาชีพเป็นกลไกในการควบคุมคุณภาพผุ้สำเร็จการศึกษาอาชีวศึกษาในแต่ะลอาชีพ/กลุ่มอาชีพ, เพิ่มหลักสูตรฝึกอบรมที่เป็นทักษะเฉพาะทาง แก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรเฉพาะทาง, เพิ่ม/ขยายการจัดอาชีวศึกษาทวิภาคีในสาขาเป้าหมาย, จัดตั้งศูนย์ควาเมป็นเลิศ/ศูนย์พัฒนาทักษะเฉพาะทางร่วมกับสถานประกอบการ และจัดหาผุ้เชียวชายเฉพาะสาขาวิชาชีพชั้นสูง

ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ การพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านอาชีวศึกษาทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยจะส่งเสริมความพร้อมด้านอาชีพให้กับคนในกลุ่ม EEC ทุกช่วงวัย, ต่อยอดทักษะกำลังคนในสถานประกอบการให้มีทักษะอาชีพสอดคล้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4.0 , แก้ปัญหาการขาดแคลนครูเร่งด่วน และยกระดับคุณภาพครู

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และควาเมท่าเทียมกันด้านอาชีวศึกษา โดยจะมีทุนการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส การดูแลช่วยเหลือนักศึกษาให้มีงานทำควบคู่กับการเรียนเพื่อให้เกิดรายได้

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การสอน การแนะนำทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อสร้างการเติบโตของคุณภาพชีวิตที่เป้นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างนิสัยผู้สำเร็จการศึกษาในการใช้ทรัพยากร ความปลอดภัยในการทำงาน จรรยาบรรณอาชีพ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ของผู้บริโภค และการทำงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ยุทธศาสตร์ที่ 6 การขับเคลื่อนธุรกิจเศรษฐกิจประเทศด้วยงานวิจัยทุกระดับ เพื่อการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพสถานศึกษาให้มีควาพมร้อมด้านทรัพยากรให้เป็นสถานศึกษา 4.0 เรื่องของ Digital College สำหรับการรองรับ EEC, สนับสนุนสถานศึกษาอาชีวศึกษาทำงานร่วมกับนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม ชุมชนอุตสาหกรรม สถานประกอบการและหน่วยงานอย่างใกล้ชิด เพื่อการผลิตกำลังคนที่ตรงกับความต้องการ

"คาดว่าในปี 60 จะมีผู้สำเร็จการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 หมื่นคน และอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีผู้สำเร็จการศึกษาเพิ่มขึ้น อีกประมาณ 4.85 หมื่นคน สำหรับงบประมาณ 619 ล้านบาท แบ่งเป็นการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตร EEC เพื่อให้สอดรับกับการเป็น New Engine of Growth จำนวน 55 ล้านบาท, เพิ่มศักยภาพสถานศึกษาและ Digital College จำนวน 55 ล้านบาท, ครูอัตราเพิ่ม 60 คน วงเงิน 43.2 ล้านบาท, จัดตั้งศูนย์เฉพาะทาง Industrial 4.0 และพัฒนา Central Lab วงเงิน 100 ล้านบาท"นายกอบศักดิ์ กล่าว

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของประเทศไทยในเรื่องของการพัฒนาคน สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในเรื่องการเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ และการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการแข่งขันอย่างยั่งยืน

"รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งเพราะโครงการต่างๆ การยกระดับอุตสาหกรรมต่างๆ การยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นระบบราง ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟใต้ดิน ทั้งหมดก็ต้องมีวิศวกรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีคนที่เพียงพอ และยังเป็นแผนที่สำคัญในการยกระดับอาชีวศึกษาของประเทศไทยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของรัฐบาล"นายกอบศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ