ครม.อนุมัติหลักการเวนคืนที่ดินในจ.อยุธยา-สระบุรี เพื่อก่อสร้างรถไฟทางคู่

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 18, 2017 17:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อก่อสร้างทางรถไฟทางคู่เลี่ยงเมืองที่สถานีชุมทางบ้านภาชี และสถานีชุมทางแก่งคอย ตามโครงการก่อสร้างทางคู่ ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า – แก่งคอย จำนวน 2 ฉบับ คือ 1) ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลไผ่ล้อม ตำบลดอนหญ้านาง และตำบลหนองน้ำใส อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ. .... และ 2) ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย และตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี พ.ศ. ....

โครงการก่อสร้างทางคู่ ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า – แก่งคอย มีความจำเป็นต้องสร้างทางรถไฟทางคู่เลี่ยงเมืองที่สถานีชุมทางบ้านภาชี เป็นระยะทาง 1.050 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างทางรถไฟสายเหนือ (กรุงเทพฯ – เชียงใหม่) กับทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ (ชุมทางบ้านภาชี – อุบลราชธานี) เป็นทางรถไฟสร้างใหม่ เขตทางกว้างประมาณ 100.00 เมตร และต้องสร้างทางรถไฟทางคู่เลี่ยงเมืองที่สถานีชุมทางแก่งคอย เป็นระยะทาง 2.650 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ (ชุมทางบ้านภาชี – อุบลราชธานี) กับทางรถไฟสายชุมทางคลองสิบเก้า – ชุมทางแก่งคอย เป็นทางรถไฟสร้างใหม่ เขตทางกว้างประมาณ 130.00 เมตร

ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลไผ่ล้อม ตำบลดอนหญ้านาง และตำบลหนองน้ำใส อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ. 2556 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย และตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี พ.ศ. 2556 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30 สิงหาคม 2556 มีผลบังคับใช้ 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2556 จะสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 30 สิงหาคม 2560 แต่ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยังดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ไม่แล้วเสร็จ เนื่องจาก รฟท. ได้รับอนุมัติค่าเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ไม่เพียงพอ ทำให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกา รวม 2 ฉบับ ดังกล่าว ไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จทันภายในระยะเวลาใช้บังคับ

กระทรวงฯ จึงมีความจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยให้มีผลใช้บังคับต่อเนื่องจากพระราชกฤษฎีกา รวม 2 ฉบับ และให้มีกำหนดระยะเวลา 4 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ