(เพิ่มเติม) ธปท.เผยเศรษฐกิจ มิ.ย.ขยายตัวต่อเนื่องตามส่งออก-ท่องเที่ยวโต แต่ลงทุนรัฐ-เอกชนยังหดตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 31, 2017 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดอน นาครธรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน มิ.ย.60 พบว่ายังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยการส่งออกขยายตัวดีในหลายหมวดสินค้า เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวที่เติบโตดี สอดคล้องกับอุปสงค์ต่างประเทศที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ด้านการใช้จ่ายในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากการใช้จ่ายในหมวดบริการและสินค้าคงทน อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวตามการลงทุนภาคก่อสร้าง การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวตามรายจ่ายลงทุน ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวตามการผลิตเพื่อขายในประเทศที่ยังไม่ดี และการระบายสินค้าคงคลังของบางอุตสาหกรรม

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงต่อเนื่องตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศและราคาอาหารสด อัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามรายรับจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว

ธปท.ระบุว่าในเดือน มิ.ย.มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องที่ 7.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำ จะขยายตัว 9.9% ตามการขยายตัวในสินค้าหลายหมวด ได้แก่ 1) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และทัศนูปกรณ์ โดยเฉพาะหมวดโทรคมนาคม ตามการส่งออกโทรศัพท์มือถือไปญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง หมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) ที่ได้รับผลดีจากการย้ายฐานการผลิตมายังไทยในปีก่อน และหมวดแผงวงจรรวมเพื่อใช้เป็นชิ้นส่วนในการผลิตอุปกรณ์ที่รองรับ Internet of Things (IoT) ชิ้นส่วนในรถยนต์ และโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่

2) สินค้าที่มูลค่าการส่งออกเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ ขยายตัวตามปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีจากอุปสงค์จีนและอาเซียนที่เพิ่มขึ้น 3) สินค้าเกษตรแปรรูป ขยายตัวต่อเนื่องตามการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางและน้าตาล และ 4) สินค้าเกษตร ขยายตัวตามการส่งออกข้าว ยางพารา และผลไม้

ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีส่งผลให้การผลิตเพื่อการส่งออกขยายตัวสูงในหลายหมวด อย่างไรก็ดี การผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศยังไม่ดีนัก ประกอบกับมีการระบายสินค้าคงคลังในบางอุตสาหกรรม ส่งผลให้โดยรวมการผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน

ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัว 12.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำ ขยายตัว 9.0% ตามการขยายตัวในหลายหมวด ได้แก่ 1. หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมเชื้อเพลิง จากการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับการส่งออกในหมวดดังกล่าวที่ขยายตัวดี 2.หมวดสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบินและแท่นขุดเจาะ ตามการนำเข้าอุปกรณ์สื่อสารและโทรคมนาคม และ 3.หมวดเชื้อเพลิง ขยายตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า ยกเว้นน้ำมันดิบที่หดตัวหลังจากเร่งนำเข้าไปมากในเดือนก่อน ประกอบกับมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันบางแห่ง

ด้านการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัว 11.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน และเมื่อปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้น 4.9% จากเดือนก่อน โดยเป็นการขยายตัวของนักท่องเที่ยวในเกือบทุกกลุ่มสัญชาติ โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาขยายตัวสูงกว่าระยะเดียวกันปีก่อน และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วสูงกว่าช่วงก่อนการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายในเดือน ต.ค.59 และจำนวนนักท่องเที่ยวอาเซียนที่ขยายตัวสูงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากผลของฐานต่ำในปีก่อนตามการเหลื่อมเดือนของเทศกาลรอมฎอน ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียและอินโดนีเซียขยายตัวสูงในเดือนนี้

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายหมวดบริการตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่ขยายตัวตามการซื้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล อย่างไรก็ดี ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมยังไม่เข้มแข็งมาก โดยแม้รายได้ของผู้บริโภคปรับดีขึ้นทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม แต่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงจากความกังวลด้านแนวโน้มราคาสินค้าเกษตร และด้านโอกาสในการหางานทำในอนาคต ส่งผลให้ผู้บริโภคบางส่วนยังระมัดระวังการใช้จ่าย

ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวเล็กน้อย ตามเครื่องชี้การลงทุนในภาคก่อสร้างที่หดตัวจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง โดยเฉพาะในธุรกิจพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์โดยรวมขยายตัว

และ การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามรายจ่ายลงทุนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทในโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ที่มีการเร่งเบิกจ่ายไปมากในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ อย่างไรก็ตาม รายจ่ายประจำยังขยายตัวได้ตามรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 0.05% ใกล้เคียงกับที่ติดลบ 0.04% ในเดือนก่อน ตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และราคาอาหารสดที่ลดลง โดยเฉพาะราคาผักและผลไม้ จากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากในปีนี้ และผลของฐานสูงเพราะภัยแล้งในปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.45% ใกล้เคียงกับเดือนก่อน

สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลปรับลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามดุลการค้าที่เกินดุลจากมูลค่าการส่งออกสุทธิที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจาก 1.การออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทย 2.การออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย ทั้งในตราสารหนี้และตราสารทุน และ 3.การนำเงินออกไปฝากในต่างประเทศของสถาบันรับฝากเงินเพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศ และการลงทุนของกองทุนรวม (Foreign Investment Fund : FIF)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ