(เพิ่มเติม) ม.หอการค้า เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ค.อยู่ที่ 73.9 ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 8, 2017 12:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในเดือน ก.ค.60 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 73.9 ลดลงจาก 74.9 ในเดือน มิ.ย.60 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 62.2 ลดลงจาก 63.3 ในเดือน มิ.ย.60

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 69.1 ลดลงจาก 70.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 90.4 ลดลงจาก 91.5

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน โดยผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนสูง, ราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะราคาข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน ยังทรงตัวในระดับต่ำ จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ผู้บริโภควิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่ครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% และปรับคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปี 60 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.5% จากเดิมที่คาด 3.4%, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คงประมาณการ GDP ไทยปี 60 ที่ 3.6%, การส่งออกของไทยในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 11.73%

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนก.ค.ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน เนื่องจากปัจจัยลบที่เป็นเรื่องบังเอิญเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสานเข้ามาในช่วงปลายของการสำรวจ แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก เมื่อมาผนวกกับปัญหาที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานเป็นสิ่งที่กลุ่มตัวอย่างให้ความกังวลมาก และกำลังซื้อที่ยังไม่กระเตื้อง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ

"ถึงแม้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจมหภาคจะขยายตัวได้ดี แต่มุมมองจากประชาชน สะท้อนถึงความกังวลว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ประชาชนยังรู้สึกว่ากำลังซื้อยังไม่กระเตื้อง การค้าขายค่อนข้างยาก" นายธนวรรธน์กล่าว

พร้อมระบุว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นฯ ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องตระหนักถึงการดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เข้าถึงระบบเศรษฐกิจฐานรากมากกว่านี้ เช่น การขับเคลื่อนผ่านกลไกกองทุนหมู่บ้านฯ ตลอดจนการเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และเร่งการลงทุนของภาครัฐให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและการใช้จ่ายของภาคประชาชนปรับตัวดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ