คลัง เผยหนี้สาธารณะคงค้างสิ้น มิ.ย.60 คิดเป็น 41.54% ของ GDP

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 9, 2017 11:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ เปิดเผยว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 มิ.ย.60 มีจำนวน 6,185,431.38 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้รัฐบาล 4,759,892.16 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 967,318.90 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 441,735.78 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 16,484.54 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหนี้สาธารณะคงค้างลดลงสุทธิ 162,393 ล้านบาท ส่งผลให้หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ณ สิ้นเดือน มิ.ย.60 คิดเป็น 41.54% ของ GDP ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือน พ.ค.60 ที่ 42.90% ของ GDP

ทั้งนี้ หนี้สาธารณะคงค้าง แบ่งออกเป็น หนี้ในประเทศ 5,875,670.75 ล้านบาท หรือ 94.99% และหนี้ต่างประเทศ 309,760.63 ล้านบาท (ประมาณ 9,154.99 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือ 5.01% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และหนี้สาธารณะคงค้างแบ่งตามอายุคงเหลือ สามารถแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาว 5,549,468.46 ล้านบาท หรือ 89.72% และหนี้ระยะสั้น 635,962.92 ล้านบาท หรือ 10.28% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด

โดยหนี้สาธารณะคงค้างจำนวนดังกล่าว ประกอบด้วย 1.หนี้รัฐบาลจำนวน 4,759,892.16 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 152,385.45 ล้านบาท เนื่องจากการกู้เงินล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ลดลง 120,450 ล้านบาท หลังได้นำไปชำระคืนหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ออกภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2541 (FIDF 1) และ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ.2545 (FIDF 3) ที่ครบกำหนดในวันที่ 16 มิ.ย.60

การกู้เงินตามแผนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 และ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2560 รวมถึงเพื่อการบริหารหนี้สาธารณะลดลง 34,700.95 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกู้ระยะสั้นลดลง 80,000 ล้านบาท เนื่องจากการลดลงของตั๋วเงินคลัง 60,000 ล้านบาท และการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ระยะสั้นไปเป็นพันธบัตรรัฐบาล 20,000 ล้านบาท, เงินกู้ระยะยาว เพิ่มขึ้น 45,299.05 ล้านบาท เนื่องจากการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ระยะสั้น 20,000 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพื่อนำไปลงทุนในการพัฒนาประเทศ สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็ง และส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมศักยภาพจำนวน 25,300 ล้านบาท และการไถ่ถอนพันธบัตรรัฐบาล 0.95 ล้านบาท,

การกู้เงินเพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศจำนวน 2,414.29 ล้านบาท แบ่งเป็น การกู้ให้กู้ต่อแก่ 1.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 1,447.20 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจำนวน 857.14 ล้านบาท สายสีน้ำเงินจำนวน 548.84 ล้านบาท สายสีม่วงจำนวน 41.07 ล้านบาท และโครงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณสถานีสะพานพระนั่งเกล้า และโครงการปรับปรุงรูปแบบอาคารจอดรถแล้วจรแยกนนทบุรี 1 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง จำนวน 0.15 ล้านบาท และ 2.การรถไฟแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 967.09 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟ สายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย จำนวน 436.19 ล้านบาท โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น จำนวน 410.62 ล้านบาท และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 120.28 ล้านบาท

การชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจำนวน 89.21 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นสุทธิ 440.42 ล้านบาท เนื่องจากผลจากการเบิกจ่ายเงินกู้สกุลเงินต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสำคัญ

2.หนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 967,318.90 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 4,389.05 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน ลดลง 1,800.45 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจาก การยางแห่งประเทศไทยชำระคืนต้นเงินกู้ 1,913.34 ล้านบาท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทยไถ่ถอนพันธบัตร 1,000 ล้านบาท รวมถึงการเบิกจ่ายเงินกู้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย 800 ล้านบาท และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 800 ล้านบาท และหนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน ลดลง 2,588.60 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีหนี้ลดลง 11,720.42 ล้านบาท และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีหนี้เพิ่มขึ้นสุทธิ 9,122.67 ล้านบาท

3.หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 441,735.78 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 4,541.43 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

4.หนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 16,484.54 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 1,077.07 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เนื่องจากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านได้มีการชำระคืนหนี้สุทธิ 1,040.70 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ