ก.พลังงาน หนุนโรงไฟฟ้าขยะชุมชนชูศูนย์แพรกษาใหม่ต้นแบบจัดการครบวงจร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 9, 2017 18:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) พร้อมคณะผู้บริหาร ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF จากขยะชุมชน กลุ่มโรงงานบริษัท ราชบุรี –อีอีพี รีนิวเอเบิ้ล เอนเนอจี้ จำกัด ที่บ่อขยะตำบลแพรกษาใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งนับเป็นศูนย์บริหารจัดการขยะชุมชนแบบครบวงจรที่มีการวบรวมขยะชุมชนในพื้นที่ และนำมาสู่การคัดแยกขยะมูลฝอยประเภทต่างๆ นำไปสู่การรีไซเคิล และส่วนหนึ่งมาผ่านกระบวนการแปรรูปและจัดการต่างๆ เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมี.ห้กลายเป็นเชื้อเพลิงขยะหรือ RDF (Refuse Derived Fuel) มาผลิตไฟฟ้า ซึ่งแนวทางการบริหารจัดการขยะดังกล่าวนับเป็นนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อลดปัญหาปริมาณขยะ และปัญหาการจัดหาพื้นที่ฝังกลบ นับเป็นการควบคุมและบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ

“โรงไฟฟ้าขยะ เป็นหนึ่งในพลังงานไฟฟ้า ที่จัดอยู่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) เพื่อจะแก้ไขปัญหากำจัดขยะไม่ถูกต้องและขยะสะสม ซึ่งนับวันปริมาณขยะของประเทศสูงขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะในเขตเมือง ซึ่งการบริหารจัดการขยะที่ตำบลแพรกษาใหม่นับเป็นตัวอย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะได้เป็นอย่างดี" นายอารีพงศ์ กล่าว

ปัจจุบันขีดความสามารถในการบริหารจัดการขยะในศูนย์ฯ สามารถผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF ได้ประมาณ 500 ตันต่อวัน โดยเป็นการคัดแยกทั้งขยะเก่า 1,000 ตันต่อวัน เพื่อป้อนเชื้อเพลิง RDF เข้าสู่โรงไฟฟ้า ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกกะวัตต์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และได้รับการสนับสนุนรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนอัตราพิเศษในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ตามสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้า 20 ปีที่ได้เริ่มเดินเครื่องและสามารถขายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ให้กับ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า ปัจจุบันศูนย์บริหารจัดการขยะชุมชนแบบครบวงจร ต.แพรกษาใหม่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งบริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอย่างถูกหลักโดยมีการคัดแยกขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF คิดเป็นสัดส่วน 45% ของขยะใหม่ที่ 4,000 ตันต่อวัน รองลงมาเป็นการแยกขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้มาทำปุ๋ยอินทรีย์ดินผสม ขยะที่แยกเป็นพลาสติกมีแผนที่จะทำน้ำมันไพโรไลซิส ฯลฯ ซึ่งถือเป็นการบริหารจัดการขยะที่ครบวงจรมีส่วนสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม

“นับเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากขยะที่อยู่ใกล้ชุมชน รองรับปริมาณขยะจากชุมชนเป็นจำนวนมากและเพียงพอต่อการนำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในโรงไฟฟ้า ถือเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงRDFต้นแบบ ซึ่งพพ.ยังคงมีนโยบายในการส่งเสริมให้ภาคเอกชน เข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ โดยนำขยะที่เกิดขึ้น ในชุมชนมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งสามารถดำเนินการได้ในพื้นที่อื่นๆ เป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องของปริมาณขยะได้อย่างมีสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม"นายประพนธ์ กล่าว

กระทรวงพลังงานได้วางเป้าหมายระยะยาวตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015) ที่จะรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากขยะชุมชนให้ได้ 500 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ประกอบการที่ดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าขยะแล้วทั้งสิ้นจำนวน 390 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็น โรงไฟฟ้าใช้พลังงานจากขยะชุมชนที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 30 โครงการ กำลังการผลิต 180 เมกะวัตต์ มีโครงการที่เซ็นสัญญาซื้อ-ขายไฟ (PPA) แล้วแต่ยังไม่สามารถ COD 12 โครงการ กำลังการผลิต 90 เมกะวัตต์ รวมทั้งยังมีโครงการที่ตอบรับซื้อแล้วแต่ยังไม่เซ็น PPA 2 โครงการ กำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ