ม.หอการค้าไทย เผยเห็นสัญญาณจ่ายใต้โต๊ะเพิ่ม หลังภาครัฐเร่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 10, 2017 13:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย (Thai CSI) ที่สำรวจจากกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มคือ ประชาชน ข้าราชการ และนักธุรกิจ ในเดือนมิ.ย.60 อยู่ที่ 53 คะแนน จากเต็ม 100 คะแนน ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อเดือนธ.ค.59 ที่อยู่ที่ 55 คะแนน

ส่วนดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 52 คะแนน เท่ากับการสำรวจครั้งก่อนเมื่อเดือนธ.ค.59 และดัชนีแนวโน้มสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยอยู่ที่ 54 คะแนน ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อเดือนธ.ค.59 ที่อยู่ที่ 57 คะแนน

อนึ่ง ระดับ 0 คะแนนหมายถึงการคอร์รัปชั่นรุนแรงมากที่สุด และ 100 คะแนน หมายถึงไม่มีการคอร์รัปชั่นเลย

ทั้งนี้ เมื่อแยกดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นรวมเดือนมิ.ย.ออกเป็น 4 หมวด จะพบว่าดัชนีปัญหาและความรุนแรงของการคอร์รัปชั่นเดือนมิ.ย.60 อยู่ที่ 44 คะแนน ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนที่อยู่ที่ 49 คะแนน, ดัชนีการป้องกันการคอร์รัปชั่นอยู่ที่ 53 คะแนน ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อน 55 คะแนน, ดัชนีการปราบปรามการคอร์รัปชั่นอยู่ที่ 54 คะแนน ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนที่อยู่ที่ 57 คะแนน และดัชนีการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึกอยู่ที่ 60 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนที่อยู่ที่ 58 คะแนน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากผลสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ผลการสำรวจ พบว่า ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์คอร์รัปชันในอนาคต เนื่องจากนับจากนี้จะมีโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ทั้งโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านไปยังจังหวัดต่างๆ หรือ โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่จะมีการประมูลและการจัดซื้อจัดจ้างมากขึ้น แม้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นมาโดยตลอด แต่เริ่มมีบางกลุ่มในภาครัฐและภาคเอกชน อาจเห็นช่องทางในการคอร์รัปชั่นได้

"ปัญหาคอร์รัปชั่นถูกคลี่คลายลงไปเยอะ แต่ว่าความห่วงใยความกังวลว่า เงินลงทุนใหม่ๆที่เกิดขึ้น และมีกลุ่มหน่วยงานของรัฐบางส่วนและเอกชนบางส่วน อาศัยช่องว่างอาจเริ่มมีแนวโน้มของการคอร์รัปชั่น สัดส่วนของเงินใต้โต๊ะจะเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เริ่มเห็นมากขึ้น"นายธนวรรธน์ กล่าว

จากผลการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐ ไม่ต้องจ่ายเงินพิเศษแก่ข้าราชการ นักการเมืองที่ทุจริตเพื่อให้ได้สัญญา อยู่ที่ 59% สูงสุดในรอบการสำรวจ 8 ปี แต่ต้องจ่ายเงินพิเศษ อยู่ที่ 13% ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อเดือนธันวาคม 59 อยู่ที่ 18% แต่สิ่งที่กังวล คือ เริ่มเห็นสัญญาณเปอร์เซนต์การจ่ายเงินพิเศษ เฉลี่ยที่ 16-35% เริ่มกลับมา ซึ่งในช่วงรอบปีที่ผ่านมาไม่สูงขนาดนี้

"ความกังวล คือ การลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของรัฐบาล อาจมีกลุ่มคนเริ่มเห็นช่องและเริ่มเรียกเงินมากขึ้น"นายธนวรรธน์ กล่าว

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจ พบว่า ผู้ประกอบการประมาณการมูลค่าการทุจริตคอร์รัปชัน มีวงเงิน 1-15% ของงบประมาณ ความเสียหายอยู่ที่ 6.5 หมื่นล้าน-1.96 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่องบประมาณประจำปี 2560 อยู่ที่ 2.24-6.72 % เป็นสัดส่วนต่อจีดีพี ที่ 0.43-1.29 %

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ปัญหาเกิดจากการบังคับใช้กฏหมายและการฮั้วประมูลยังคงมีอยู่ ซึ่งจำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐต้องมีการปรับปรุงระบบเพื่อป้องกันการฮั้วประมูลให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจพบว่า ความทานทนต่อการทุจริตคอร์รัปชันในเดือนมิถุนายน 60 ถือว่าต่ำกว่าในรอบ 7 ปีของการสำรวจ อยู่ที่ร้อยละ 2.23 แสดงให้เห็นว่า คนรับไม่ได้ต่อการคอร์รัปชัน และเห็นถึงความสำคัญต่อปัญหาคอร์รัปชั่นและต้องร่วมกันรณรงค์ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ